สถาบันวิจัยชั้นนำโลกเรียกร้องทุกชาติเร่งลดมลพิษ

สถาบันวิจัยชั้นนำโลกเรียกร้องทุกชาติเร่งลดมลพิษ

สถาบันวิจัยชั้นนำโลกเรียกร้องทุกชาติเร่งลดมลพิษ ขณะผลศึกษาปี 2564 ระบุว่า ถ่านหินเป็นตัวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในปริมาณมากที่สุดในโลก รองลงมาเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและปูนซีเมนต์

 น้ำท่วมหนักปากีสถานช่วงที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่บอกว่าแม้ประเทศเล็กๆอย่างปากีสถานที่ไม่ได้ปล่อยควันพิษ หรือก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากเท่าประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนขึ้น และปัญหามลพิษในระดับที่รุนแรงเกินคาด

ล่าสุด "บ็อบ วอร์ด" ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย จากสถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ‘แกรนแธม’ (Grantham) ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในฐานะเป็นวิทยากรร่วมในงานสัมมนา Sustainability Expo (SX) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้หัวข้อ “Is the world on track to avoid dangerous climate change?” หรือ “โลกของเรา หนีพ้นจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้ตามเป้าหมายหรือไม่” เมื่อวันอังคาร(27 ก.ย.)

วอร์ด ได้นำเสนอข้อมูลอ้างอิงจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2564 ว่า การทำให้โลกร้อนขึ้น หรือการสร้างมลพิษโดยน้ำมือมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศหลายรูปแบบ เช่น เกิดคลื่นความร้อน ฝนตกหนัก เกิดพายุไซโคลนเขตร้อน เป็นต้น และพบว่า อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2393-2565 เพิ่มขึ้น 0.9-1.2 องศา 

ส่วนไทย ตั้งแต่ปี 2493-2563 มีอุณหภูมิสูงโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 25-27 องศาเซียลเซียส ขณะที่การใช้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ยังคงมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก

จากสมมติฐานการปล่อยมลพิษคาดว่า อุณหภูมิพื้นผิวโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 1.5-2 องศาเซลเซียส ในช่วงศตวรรษที่ 21 หากไม่เร่งลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก โดยครั้งล่าสุดที่โลกมีอุณหภูมิคงที่มากที่สุดคือ 3 ล้านปีก่อน
 

หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส มีโอกาสสูงว่าอาจทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงและถี่มากขึ้นในทวีปแอฟริกาและเอเชีย รองลงมาคือภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรป หรือบางภูมิภาคอาจเกิดความแห้งแล้งในภาคเกษตรและระบบนิเวศ ยกเว้นทวีปเอเชีย และหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส จะทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงมากขึ้น

 บ็อบ ระบุว่าผลการศึกษาปี 2564 บ่งชี้ว่า ถ่านหินเป็นตัวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์มากที่สุด รองลงมาเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและปูนซีเมนต์

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยว่า เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป ย่อมส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในราคาอาหารและราคาพลังงาน รวมถึงระบบห่วงโซ่อุปทานต่าง ๆ จะเกิดความไม่สมดุลด้วย

เมื่อทั่วโลกเกิดการตระหนักรู้ถึงผลกระทบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง จึงจัดทำ 'ความตกลงปารีส' (Paris Agreement) ให้เป็นตัวกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้อุณหภูมิโลกต่ำกว่าอุณภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม 2 องศาเซลเซียส และควบคุมให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนที่สุด รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด 45% ภายในปี 2573 เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีผู้ร่วมความตกลงปารีสแล้วทั้งสิ้น 197 ประเทศ รวมถึงไทย
 

 ขณะที่ข้อมูลช่วงปี 2553-2562 บ่งชี้ว่า ต้นทุนของเทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษต่ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ต้นทุนพลังงานจากแสงอาทิตย์ลดลง 85% ต้นทุนพลังงานลมลดลง 55% แบตเตอรีลิเทียมลดลง 85%

ด้านองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) เห็นว่า พลังงานทดแทนไม่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันในตลาด เนื่องจากราคาพลังงานเชื้อเพลิงและราคาไฟฟ้าสูงขึ้นสูงขึ้นอย่างอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ไตรมาสุดท้ายของปี 2564

พอสรุปได้ว่าโลกของเราจะไม่สามารถหลีกหนีสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างเลวร้ายมากขึ้นได้ หากทุกคนไม่ร่วมกันช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และควรหันไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นและให้ไวที่สุด รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด เพื่อบรรเทาการเกิดภัยพิบัติ และรักษาโลกของเราให้ปลอดภัยและมีความยั่งยืนต่อไป

ข้อเรียกร้องของวอร์ด มีขึ้นหลังจากหลายประเทศเผชิญคลื่นความร้อนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเทศในยุโรป ส่งผลให้ผู้คนเจ็บป่วย และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต และไม่ใช่แค่ผลกระทบต่อผู้คนเท่านั้น คลื่นความร้อนยังทำให้ปริมาณธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ด้วย

"แอนเดรียส ลินส์บาวเออร์"นักธรณีวิทยาชาวสวิส กล่าวว่า ปกติแล้วจะมีการวัดปริมาณน้ำแข็งบริเวณธารน้ำแข็งมอเทอราท (Morteratsch Glacier) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ช่วงปลายฤดูร้อน หรือช่วงปลายเดือนก.ย. เพื่อพิจารณาจากความแตกต่างของปริมาณหิมะที่ตกลงมาในฤดูหนาว และปริมาณน้ำแข็งที่ละลายในฤดูร้อน แต่เนื่องจากการละลายของธารน้ำแข็งที่รวดเร็วขึ้น ทำให้ต้องตรวจเช็คปริมาณธารน้ำแข็งล่วงหน้าสองเดือน และพบว่าน้ำแข็งลดลงไปมาก

การละลายของธารน้ำแข็งมอเทอราทมีขึ้นในขณะที่ธารน้ำแข็งบนภูเขาส่วนใหญ่ทั่วโลกกกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เทือกเขาแอลป์ในยุโรปมีความเสี่ยงสูงกว่าที่อื่นๆ เพราะมีน้ำแข็งปกคลุมค่อนข้างน้อย 

ขณะที่อุณหภูมิในเทือกเขาแอลป์สูงขึ้นประมาณ 0.3 องศาฯ ทุกๆ 10 ปี ซึ่งเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกประมาณสองเท่าจึงเห็นได้ว่าในช่วง 60 ปี ปริมาณน้ำแข็งลดต่ำลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ฤดูหนาวปีที่แล้ว มีปริมาณหิมะตกค่อนข้างน้อย และเทือกเขาแอลป์ก็เผชิญคลื่นความร้อนอย่างรุนแรงในช่วงต้นฤดูร้อน ในเดือนก.ค. อุณหภูมิบริเวณภูเขาเซอร์แมท (Zermatt)สูงเกือบ 30 องศาเซลเซียส