เมื่อมหาเศรษฐีมีจิตสำนึก | ไสว บุญมา 

เมื่อมหาเศรษฐีมีจิตสำนึก | ไสว บุญมา 

การทำทานแนวพระเวสสันดรของมหาเศรษฐีแสนล้านเพิ่งเป็นข่าวใหญ่ในสหรัฐ ก็ควรเป็นเช่นนั้นเพราะการทำทานแบบนี้ไม่มีให้เห็นบ่อยนัก แม้แต่ละปีจะมีมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นก็ตาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อีวอน ชวีนาร์ด (Yvon Chouinard) ประกาศว่า เขาได้ยกกิจการซึ่งมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทให้แก่องค์กรเพื่อปกปักรักษาโลก ผ่านงานหลัก 2 ด้าน นั่นคือด้านป้องกันการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ซึ่งมีภาวะโลกร้อนเป็นตัวก่อปัญหาสารพัด และด้านการรักษาพื้นที่ซึ่งยังไม่ถูกนำมาใช้ให้คงอยู่ต่อไปในสภาพเดิม

นายชวีนาร์ดเป็นนักกีฬากลางแจ้งหลายอย่างรวมทั้งการปีนเขาและการโต้คลื่น กิจการของเขาขายเสื้อผ้าและอุปกรณ์สำหรับนักกีฬากลางแจ้งเป็นหลัก แทนที่จะได้ลดภาษีดังที่คนทั่วไปมักเข้าใจกัน นสพ.วอชิงตันโพสต์ รายงานว่าการทำทานในรูปแบบที่เขาทำครั้งนี้เขาต้องเสียภาษีเป็นเงิน 17.5 ล้านดอลลาร์ 

ตามรายงาน ภรรยาและลูก 2 คนสนับสนุนการทำทานของเขา แต่ไม่มีรายงานว่าเขาได้มอบสมบัติให้ลูกไปบ้างแล้วหรือไม่ ต่างกับในกรณีของวอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีซึ่งเคยมีสินทรัพย์เป็นลำดับ 1 ของโลก

นายบัฟเฟตต์เริ่มทำทานมานานแล้ว โดยเฉพาะในแนวที่เขาทำร่วมกับบิล เกตส์ หลักการบริจาคสินทรัพย์เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของวอร์เรน บัฟเฟตต์และบิล เกตส์ คือพวกเขาจะบริจาคไปเรื่อยๆ และเมื่อถึงวันสุดท้ายของชีวิต นายบัฟเฟตต์จะเหลือสินทรัพย์เพียง 1% ส่วนนายเกตส์จะเหลือ 5% 

นอกเหนือจากนั้น ทั้งคู่ยังออกไปเชิญชวนให้มหาเศรษฐีทั่วโลกบริจาคในแนวของพวกเขาอีกด้วย โดยการให้ผู้เข้าร่วมเขียนคำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ไว้กับองค์กรของกลุ่มชื่อ Giving Pledge (รายชื่อของมหาเศรษฐีมีอยู่ในเว็บไซต์ www.givingpledge.org) 

การบริจาคจะเป็นแบบทำไปเรื่อยๆ หรือจะทำเมื่อสิ้นชีวิตก็ได้ ณ วันนี้มีมหาเศรษฐีจาก 28 ประเทศให้คำมั่นสัญญาแล้ว 230 คำมั่นสัญญา (บางคำมั่นสัญญาลงนามไว้ในรูปของครอบครัว) ไม่ปรากฏว่ามีมหาเศรษฐีไทยรวมอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งอาจบ่งชี้ว่ามหาเศรษฐีไทยไม่เห็นด้วยกับแนวคิด หรือเห็นด้วยแต่ไม่ต้องการเข้าร่วม

ย้อนไปในตอนที่นายบัฟเฟตต์ประกาศว่าเขาจะบริจาคสินทรัพย์ 99% มีรายงานทำนองว่าเขาถูกถามทำไมไม่เก็บไว้ให้ลูกบ้าง เขาตอบเชิงกึ่งขบขันว่า ถ้าลูกอยู่ไม่ได้หลังจากให้ไปแล้วก็เป็นบาปกรรมของพวกเขาที่พ่อคงช่วยอะไรต่อไปอีกไม่ได้ (มีรายงานต่อมาว่าลูกรับไปคนละ 6 พันล้านดอลลาร์) 

นายบัฟเฟตต์คงเป็นมหาเศรษฐีที่เลี้ยงลูกแบบไม่ตามใจจนทำให้ลูกเสียคน ตอนนี้มีรายงานว่าลูกชายเริ่มบริจาคทรัพย์ที่ได้รับพร้อมกับส่วนที่แตกดอกออกผลเพื่อการกุศลตามพ่อเช่นกัน

ลูกๆ ของนายชวีนาร์ดคงได้รับการเลี้ยงดูในแนวลูกของนายบัฟเฟตต์ จึงเห็นด้วยที่พ่อจะบริจาคสินทรัพย์ทั้งหมดให้แก่การปกปักรักษาโลกที่พ่อรักเป็นชีวิตจิตใจ

นายบัฟเฟตต์จะสอนลูกอย่างไรไม่เคยมีใครนำมารายงาน อย่างไรก็ตาม การทำตัวเป็นตัวอย่างคงเป็นทางที่สำคัญที่สุด เขาเป็นคนสมถะซึ่งยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังแรกที่ซื้อก่อนจะเป็นมหาเศรษฐี และเมื่อจะไปไหนในย่านนั้นก็ขับรถไปเอง รถก็เป็นแบบธรรมดาๆ ไม่ใช่จำพวกหรูหราราคาเป็นหลักแสนดอลลาร์ 

การสอนลูกของเขาโดยการทำตัวอย่างให้ดู คงอยู่คนละขั้วกับของมหาเศรษฐีไทยที่มีรายงานเรื่องการตามใจลูกทุกอย่าง รวมทั้งการซื้อรถสปอร์ตราคาสูงให้ เมื่อลูกขับรถแบบละเมิดกฎหมายจนทำให้คนตายก็หาทางช่วยด้วยการทุ่มเงิน

การก้าวขึ้นเป็นมหาเศรษฐีต้องใช้ทรัพยากรโลก และการบริโภคเกินความจำเป็นแบบไม่รู้จักยับยั้ง ซึ่งมีผลในด้านการทำลายโลก

ฉะนั้น จากมุมมองของการปกปักรักษาโลก การบริจาคเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์นั้นดีแน่ แต่คงไม่พอ ถ้าจะให้มีผลดีต่อโลก มันจะต้องนำไปสู่การรู้จักยับยั้งการสร้างความร่ำรวยและการบริโภคให้อยู่ในขอบเขตของความจำเป็นเท่านั้น.