เปิดไทม์ไลน์ “ม็อบอิหร่าน” กับกระแสต่อต้านตำรวจทำร้ายผู้หญิงจนเสียชีวิต

เปิดไทม์ไลน์ “ม็อบอิหร่าน” กับกระแสต่อต้านตำรวจทำร้ายผู้หญิงจนเสียชีวิต

การประท้วงของ “ม็อบอิหร่าน” เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยชนวนเหตุเกิดจาก ตำรวจศีลธรรมจับกุมหญิงวัย 22 ปี และทำร้ายจนเสียชีวิต ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนอย่างหนัก

ย้อนไปเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ท่ามกลางการชุมนุมประท้วงของ “ม็อบอิหร่าน” ที่รวมตัวกันเพื่อขับไล่ผู้นำสูงสุด ตำรวจศีลธรรมของอิหร่านได้จับกุมและทำร้ายหญิงสาวอายุ 22 ปี ชาวอิหร่านชื่อว่า “มาห์ซา อามินี” ในข้อหาแต่งกายไม่สุภาพ เนื่องจากเธอคลุมฮิญาบไม่เรียบร้อย โดยปล่อยให้มีปอยผมด้านหน้าตกลงมาบริเวณหน้าผาก ซึ่งถือว่าผิดระเบียบข้อบังคับในการสวมฮิญาบ หรือผ้าคลุมศีรษะในที่สาธารณะ ทำให้ชาวอิหร่านส่วนใหญ่มองว่าการกระทำของตำรวจในครั้งนี้เกิดกว่าเหตุ

หลังจากนั้นในวันที่ 16 ก.ย. อามินี ซึ่งอยู่ในอาการโคม่าที่โรงพยาบาลก็ได้เสียชีวิตลงจากอาการสมองตาย โดยตามร่างกายของเธอมีบาดแผลฟกช้ำที่เกิดจากการถูกทำร้าย แต่ตำรวจอ้างว่าเธอเสียชีวิตเพราะมีอาการป่วยระหว่างการจับกุมตัวร่วมกับผู้หญิงคนอื่น และไม่ได้ทุบตีเธอตามที่หลายฝ่ายอ้าง แม้ครอบครัวของเธอจะยืนยันว่าเธอไม่เคยมีปัญหาสุขภาพก็ตาม 

เมื่อข่าวแพร่ออกไปทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก แม้แต่ชาวอิหร่านที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมและสนับสนุนการสวมฮิญาบยังมองว่าตำรวจทำเกินกว่าเหตุ การเสียชีวิตของอามินีจึงกลายเป็นชนวนที่เพิ่มความรุนแรงให้กับการชุมนุมประท้วงของ “ม็อบอิหร่าน” เป็นเท่าทวีคูณ

  • เกิดอะไรขึ้นที่อิหร่าน

การประท้วงของชาวอิหร่านหรือ “ม็อบอิหร่าน” เริ่มต้นเมื่อประมาณวันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมาโดยม็อบต้องการขับไล่ผู้นำสูงสุด “อายะตุลลอฮ์ อะลี คอเมเนอี” รวมถึงขับไล่รัฐบาลเนื่องจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในช่วงแรกของการประท้วงเกิดขึ้นที่กรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน โดยเริ่มจากการที่มีประชาชนมารวมตัวกันและมีการตะโกนขับไล่ผู้นำสูงสุด ทำให้ตำรวจต้องตรึงกำลังเพื่อรักษาความปลอดภัย แต่ก็ยังมีผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บซึ่งผู้ชุมนุมคาดว่ามาจากฝั่งเจ้าหน้าที่

ชนวนเหตุที่ทำให้การชุมนุมเริ่มบานปลายนั้น เริ่มในวันที่ 16 ก.ย. “มาห์ซา อามินี” หญิงสาววัย 22 ปี และครอบครัวเดินทางมาเยี่ยมญาติที่กรุงเตหะราน แต่กลับถูกตำรวจศีลธรรมจับตัวไปพร้อมให้เหตุผลว่าเธอคลุมฮิญาบไม่สุภาพ ปล่อยให้มีผมหลุดออกมา และหลังจากนั้นมีรายงานจาก “นาดา อัล-นาชิฟ” รักษาการข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่า เธอถูกใช้ไม้กระบองทุบ และศีรษะของเธอถูกกระแทกเข้ากับรถตำรวจ หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ครอบครัวของเธอได้รับแจ้งว่าเธอถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลคาสราและอยู่ในอาการโคม่า ทำให้ผู้ชุมนุมที่ทราบข่าวไม่พอใจในการกระทำของตำรวจมากขึ้น

หลังจากนั้นเพียงไม่นานเนื่องจาก อามินี มีภาวะสมองตาย และแม้จะกู้สัญญาณชีพกลับมาได้ แต่เธอก็อยู่ต่อได้แค่ 48 ชม. เท่านั้น ก่อนจะเสียชีวิต ซึ่งบริเวณร่างกายและใบหน้าของเธอมีรอยฟกช้ำที่เกิดขึ้นจากการถูกทำร้ายหลงเหลือให้เห็นอยู่มากมาย ด้านตำรวจยืนยันว่าไม่ได้ทำร้ายเธอแต่อย่างใด แต่เธอหมดสติจากโรคหัวใจล้มเหลวขณะถูกคุมขัง ทำให้ครอบครัวของเธอต้องออกมายืนยันว่า อามินี ไม่เคยมีปัญหาเรื่องสุขภาพมาก่อน

ต่อมาในวัน 17 ก.ย. ครอบครัวของอามินีจัดพิธีศพให้เธอที่บ้านเกิดในจังหวัดเคอร์ดิสถาน ทางตะวันตกของอิหร่าน โดยมีผู้คนเดินทางไปแสดงความอาลัยกว่า 1,000 คน และการจัดงานครั้งนี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหตุการณ์นี้จึงเหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ความรู้สึกของผู้ชุมนุมมาถึงจุดเดือด และเกิดดาวกระจายม็อบไปทั่วอิหร่านในเวลาต่อมา

การชุมนุมประท้วงของ “ม็อบอิหร่าน” ลากยาวมาถึงวันที่ 21 ก.ย. ม็อบได้ขยายตัวไปถึง 15 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น เมืองแมชแฮด เมืองใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองแทบรีซในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ เมืองแรชต์ในภาคเหนือ เมืองอิซฟาฮานในภาคกลาง และเมืองชิราซในภาคใต้ เป็นต้น ในส่วนของเมืองหลวงอย่างกรุงเตหะรานมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คน บางส่วนปิดถนน วางเพลิงถังขยะและรถตำรวจ พร้อมตะโกนต่อต้านรัฐบาล ขว้างปาก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้ตำรวจตัดสินใจใช้ปืนยิงแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม นอกจากนี้ผู้หญิงหลายคนที่ร่วมชุมนุมมีการถอดฮิญาบออกมาเผารวมถึงตัดผมประท้วงด้วย

การประท้วงครั้งนี้เป็นที่น่าสนใจว่า ความบานปลายที่เกิดจากการเสียชีวิตของ อามินีนั้น สืบเนื่องมาจาก “กฎหมายชารีอะห์” หรือ กฎหมายอิสลาม ที่ใช้กันอย่างเข้มงวดในรัฐอิสลาม โดยเฉพาะประเทศตะวันออกกลาง ที่มีข้อบังคับให้ผู้หญิงมุสลิมแต่งกายให้มิดชิด ต้องใช้ผ้าคลุมศีรษะ ห้ามไม่ให้แขนและขาพ้นออกมาจากเสื้อผ้า รวมถึงห้ามใส่เสื้อผ้ารัดรูป เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ แต่เมื่อมีประเด็นของ อามินี เกิดขึ้น ทำให้สังคมปัจจุบันตั้งคำถามว่านี่จะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายบางประการให้มีความทันสมัยเข้ากับสังคมปัจจุบันหรือไม่

  • สตรีมุสลิมกับการคลุมฮิญาบ

รัฐอิสลามในตะวันออกนั้นล้วนปกครองด้วยกฎหมายชารีอะห์ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่ใช้ในประเทศที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติเท่านั้น ชารีอะห์ (Sharia / Shariah) คือระบบยุติธรรมของศาสนาอิสลาม อิงกับคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอ่าน ทำหน้าที่เป็นกรอบกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิต ซึ่งชาวมุสลิมจะต้องปฏิบัติตามเพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า

แน่นอนว่าในรัฐอิสลามที่เข้มงวดประชาชนจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด อย่างเช่น การคลุมฮิญาบของผู้หญิงมุสลิม ในศาสนาอิสลามระบุว่าผู้หญิงต้องสวมผ้าคลุมผมจนปิดถึงหน้าอก เพื่อเป็นการปกปิดร่างกายให้มิดชิดและ สำรวม ปกติแล้วผู้หญิงจะเปิดเผยแค่ใบหน้าและฝ่ามือ

ส่วนการปิดจนเหลือแต่ลูกตานั้นเป็นทัศนะที่ปฏิบัติเพื่อป้องกันตนเองจากความไม่ดีไม่งามทางสังคม เช่น ป้องกันการถูกแซว หรือ การหยอกล้อเชิงชู้สาวจากเพื่อนชาย เป็นต้น และในบางประเทศนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้หญิงเองก็ต้องเคารพกฎและใช้ผ้าคลุมศีรษะคลุมศรีษะด้วยเช่นกัน

การคลุมฮิญาบที่เข้มงวดนั้นส่วนใหญ่จะพบเห็นในรัฐอิสลาม เพราะปัจจุบันผู้หญิงมุสลิม(ในประเทศอื่นๆ) หลายคนก็ไม่ได้คลุมฮิญาบทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ซึ่งเป็นไปตามความเหมาะสมและตามกรอบของวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ แต่เมื่อต้องเข้าร่วมพิธีการสำคัญทางศาสนาก็จะคลุมฮิญาบตามปกติ

ดังนั้นจากกรณีของอามินีแสดงให้เห็นว่าการตีความในการคลุมฮิญาบที่สุภาพนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล แต่หลายคนก็มองว่าเธออาจจะเป็นสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนากฎระเบียบต่างๆ ที่ใช้กันยาวนานภายใต้รัฐอิสลามก็เป็นได้

อ้างอิงข้อมูล : Nation TV, BBC Thai, มุสลิมไทยโพสต์ และ Infoquest