"เฟด" ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% รอบ 3 ติดต่อกัน หลังพิษ "เงินเฟ้อ" ไม่แผ่ว

"เฟด" ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% รอบ 3 ติดต่อกัน หลังพิษ "เงินเฟ้อ" ไม่แผ่ว

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ครั้งที่ 3 ติดต่อกัน หลังพิษ "เงินเฟ้อ" ในประเทศยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย พร้อมย้ำ จะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยจากระดับปัจจุบันต่อไป

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 3.00%-3.25% ในการประชุมเมื่อวันพุธ (21 ก.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น หลังเข้าสู่ปี 2565 ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% โดยมุ่งเป้าไปที่การต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

"เราคาดว่าการเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องต่อไป จะเป็นมาตรการที่เหมาะสมในการสกัดเงินเฟ้อพุ่งสูงขณะนี้" แถลงการณ์ของเอฟโอเอ็มซีระบุ

ทั้งนี้ เฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน หลังปรับขึ้นอัตราเดียวกัน สู่ระดับ 2.25%-2.50% ในการประชุมช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐยังอยู่ในระดับสูง และนับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 5 ของเฟดในช่วง 7 เดือนหลัง

ด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด แถลงหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยล่าสุด ยอมรับว่า ไม่มีวิธีการที่ "ไร้ความเจ็บปวด" ในการเอาชนะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขณะนี้ ซึ่งอาจต้องแลกมาด้วยภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและตัวเลขว่างงานที่สูงขึ้น

"เราจำเป็นต้องกำราบเงินเฟ้อให้อยู่หมัด ผมก็อยากให้มีวิธีการที่ไม่ต้องมีใครเจ็บปวด แต่มันไม่มี" นายพาวเวลระบุ

  • "เงินเฟ้อ" ยังสูงเกินคาด

สัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือตัวเลขเงินเฟ้อ ในเดือน ส.ค. ซึ่งออกมาสูงกว่าที่คาดการณ์ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 8.1% เทียบเป็นรายปี เและเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 0.1%

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 6.3% เทียบเป็นรายปี จากที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 6.1% และเพิ่มขึ้น 0.6% เทียบเป็นรายเดือน จากที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.3%

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ครั้งนี้ ถือเป็นวงจรการคุมเข้มทางการเงินครั้งรุนแรงที่สุดของเฟด นับตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 80 ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ (Stagflation) สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

  • ส่อขึ้นดอกเบี้ยต่อ จนแตะ 4.26%

ขณะที่ผลสำรวจของสำนักข่าวซีเอ็นบีซีเมื่อไม่นานนี้ ระบุว่า นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทคาดการณ์ว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนแตะระดับสูงสุด และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวต่อไประยะหนึ่ง โดยเฟดจะใช้มาตรการดอกเบี้ยแบบ "ขึ้นแล้วคง" (hike and hold) แทนที่จะใช้มาตรการ "ขึ้นแล้วลง" (hike and cut) ตามที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้

ผลการสำรวจระบุว่า นักวิเคราะห์คาดว่า เฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนแตะระดับ 4.26% ในเดือนมี.ค.2566 โดยคาดว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นเวลาเกือบ 11 เดือน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของบรรดานักวิเคราะห์ที่คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือนไปจนถึง 2 ปี

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า มีแนวโน้ม 52% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า อันเนื่องจากการที่เฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากเกินไป

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์มองว่า เฟดต้องใช้เวลาอีกหลายปี ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย 2% โดยคาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เมื่อเทียบรายปี จะอยู่ที่ระดับ 6.8% ในช่วงสิ้นปี 2565 และอยู่ที่ 3.6% ช่วงสิ้นปี 2566 ก่อนที่จะปรับตัวลงสู่เป้าหมาย 2% ของเฟดในปี 2567