“ดอน” หัวหน้าคณะไทย ร่วมประชุมยูเอ็น นิวยอร์ก จัดครั้งแรกหลังโควิด

“ดอน” หัวหน้าคณะไทย ร่วมประชุมยูเอ็น นิวยอร์ก จัดครั้งแรกหลังโควิด

“ดอน ปรมัตถ์วินัย” ได้รับมอบหมายจากรักษาการนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 77 (UNGA77) ระหว่างวันที่ 16-25 กันยายน 2565 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะผู้แทนไทย มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 77 (UNGA77) และกิจกรรมคู่ขนานสำคัญ ระหว่างวันที่ 17-25 กันยายน 2565 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งการประชุมสมัชชาฯ ในปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นแบบ in-person อย่างเต็มรูปแบบนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นโอกาสให้ไทยได้ดำเนินแนวทาง ดังนี้

1.กระชับความสัมพันธ์ (reconnect) กับนานาประเทศ ตอกย้ำ (reaffirm) ความเชื่อมั่นของไทยต่อระบบพหุภาคี ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการผลักดันวาระสำคัญด้านการพัฒนาของโลก และรับมือกับประเด็นความท้าทายใหม่ อาทิ เทคโนโลยีดิจิทัล 2. การใช้อวกาศส่วนนอก และการผลักดันให้ระบบการเงินโลกมีความยุติธรรมและเท่าเทียม 3.ร่วมกำหนด (reshape) วาระสำคัญของโลก ผ่านการมีส่วนร่วมในการหารือต่าง ๆ และนำเสนอบทบาทของไทยในฐานะประธานเอเปค นำเสนอผลลัพธ์ของการประชุมเอเปค รวมถึงการเป็นผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน โดยมุ่งผลักดันวาระสำคัญของไทย โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และ 4.สานต่อ (revitalize) ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐไทยกับชุมชนไทยในสหรัฐฯ และภาคเอกชน อาทิ US-ASEAN Business Council (USABC)

การเยือนครั้งนี้ยังเป็นโอกาสที่ไทยจะได้เปิดตัวการลงสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน
แห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. 2025 - 2027 ของไทยอีกด้วย สำหรับการเข้าร่วม UNGA77 ของคณะผู้แทนไทยในปีนี้ตรงกับช่วง High-level Week (HLW) ซึ่งประมุขและผู้นำรัฐบาลของรัฐสมาชิก UN เดินทางมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์และจุดยืนต่อวาระสำคัญของโลก
โดยการกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป (General debate) ภายใต้หัวข้อที่นายชอบอ เคอเรอซี (Csaba Korosi) ปธ. สมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 77 (PGA77) เป็นผู้กำหนด คือ “ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง : ทางออกที่พลิกรูปแบบเพื่อรับมือความท้าทายที่เชื่อมโยงกัน” (A watershed moment: transformative solutions to interlocking challenges) โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงในช่วงเช้าของวันที่ 24 กันยายน ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ 

นอกจากนี้ พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการนายกรัฐมนตรี จะร่วมกล่าวถ้อยแถลงแบบบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้าในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา (Transforming Education Summit: TES) ในวันที่ 19 กันยายน  โดยมุ่งแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะของผู้เรียน และการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานอีกกว่า 10 รายการ ครอบคลุมประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาคมโลก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของไทยในด้านต่าง ๆ