ชมงานศิลปะ-ตะลุยแกลเลอรีกลางจาการ์ตา

ชมงานศิลปะ-ตะลุยแกลเลอรีกลางจาการ์ตา

เก็บตก Art Jakarta 2022 งานอาร์ตแฟร์ระดับนานาชาติระหว่างวันที่ 26-28 ส.ค. ที่อินโดนีเซีย ชมผลงานศิลปะหลากรูปแบบ พร้อมเยี่ยมชมแกลเลอรีกลางเมืองหลวง

อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วในบทความชิ้นก่อนหน้าว่า งาน Art Jakarta  2022  มีชิ้นงานมาจัดแสดงถึงกว่า 1,600 ชิ้น แต่ละชิ้นงดงามด้วยสไตล์แตกต่างกันไปจาระไนไม่หมด World Pulse ขอกล่าวถึงบางชิ้นก็แล้วกัน เริ่มต้นจาก Fountain ของศิลปิน Marco Cassani ศิลปินใช้เวลาสองปีสำรวจน้ำพุใกล้บ้านในบาหลี บริเวณสถานที่ศักดิ์สิทธิ เช่น วัด แล้วเก็บเหรียญสกุลต่างๆ จากทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่มาโยนไว้พร้อมคำอธิษฐาน ศิลปินนำเหรียญเหล่านั้นมาวางเรียงกันเป็นแถวสูง มูลค่าของเงินนั้นประมาณค่ามิได้ แต่ที่มีความหมายยิ่งกว่าคือคุณค่าทางจิตใจ 

งานศิลปะ Fountain ว่าเด็ดแล้วแต่บูธมีกิมมิกที่เด็ดกว่า ด้วยการทำน้ำพุจำลอง น้ำไหลลงมาจากรูปปั้นคางคกสู่อ่างน้ำเล็กๆ เบื้องล่าง เจ้าหน้าที่คอยแจกเหรียญพลาสติกให้ผู้มาชมงานโยนราวกับไปเยือนน้ำพุศักดิ์สิทธิจริงๆ ซึ่ง World Pulse ก็รับมาหนึ่งเหรียญพร้อมยกมือไหว้หลับตาอธิษฐานเบื้องหน้าน้ำพุจำลองเพื่อบิลต์อารมณ์คนที่เดินผ่านให้บรรยากาศดูสมจริง 

ชมงานศิลปะ-ตะลุยแกลเลอรีกลางจาการ์ตา

เดินเข้าไปในฮอลล์เจองานศิลปะจัดวางชิ้นหนึ่งของ Dedy Sufriadi นำหนังสือเล่มจำนวนมากมาวางซ้อนกันเป็นบล็อกสูงสะท้อนว่า ไม่ว่าจะอยู่ในรูปตัวเล่มหรือดิจิทัล หนังสือยังคงเป็นสื่อกลางที่สำคัญในการให้ข้อมูลข่าวสารในรูปของข้อความ ศิลปินต้องการสื่อให้เห็นว่าการบริโภคข่าวสารเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกจากอะนาล็อกสู่ดิจิทัล และการรู้หนังสือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนามนุษย์ 

ชมงานศิลปะ-ตะลุยแกลเลอรีกลางจาการ์ตา

นั่นแค่ตัวอย่างเพียงน้อยนิดจากชิ้นงานทั้งหมด ซึ่งงานอาร์ต จาการ์ตา  ไม่ได้มีเฉพาะที่ศูนย์ประชุมเสนายันเท่านั้น ในวันที่ 2 คณะสื่อมวลชนนานาชาติได้ฝ่าการจราจรติดขัดไปเยี่ยมเยือนแกลเลอรีต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วเมืองหลวง เริ่มต้นจาก Rubanah แกลเลอรีใต้ดินไม่ไกลจากโรงแรมที่พัก งานที่น่าประทับใจชิ้นหนึ่งคือ Hate is the virus ของศิลปิน Bibiana Lee กระสอบทรายสองใบสีดำ - ขาว เขียนข้อความ Hate is the virus แขวนอยู่มุมห้อง ผู้ชมสามารถระบายอารมณ์กับกระสอบทรายได้ ศิลปินเล่าว่า ศิลปะจัดวางชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานว่าด้วยการเหยียดผิวและความเกลียดกลัวคนต่างชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงที่โควิด-19 ระบาด คนเอเชียตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก 

“เวลาเราเกลียดใคร ย่อมกระตุ้นให้เกิดการก่ออาชญากรรมเพราะความเกลียดชัง” ศิลปินกล่าวพร้อมอธิบายว่าการเลือกใช้กระสอบทราบสีขาวและดำเพื่อสะท้อนถึงการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกสีผิว 

ชมงานศิลปะ-ตะลุยแกลเลอรีกลางจาการ์ตา

ณ ชั้นบนของตึกเดียวกันยังมีแกลเลอรีอีกแห่งชื่อว่า Art Agenda  Jakarta ไม่ไกลกันจากตึกนั้นคือ Distrik Seni X Sarinah ที่ชั้น 6 ของห้างซารินาห์ ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของอินโดนีเซีย การไปเยี่ยมชมแกลเลอรีแห่งนี้ช่วยให้ได้คำตอบถึงชื่อ ซารินาห์ เธอคือมารดาเลี้ยงของประธานาธิบดีซูการ์โน เป็นคนที่ซูการ์โนเคารพมากเพราะเลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็กๆ  อบรมสั่งสอนแต่สิ่งดีๆ หน้า Distrik Seni จึงมีหุ่นของเธอปรากฏอยู่ ภายในมีงานปั้นเล็กๆ ชื่อว่าซารินาห์ในอิริยาบถต่างๆ ของศิลปินนาม Sri Astari แสดงอยู่ด้วย 

ชมงานศิลปะ-ตะลุยแกลเลอรีกลางจาการ์ตา

จาก Distrik Seni X Sarinah สื่อมวลชนแวะไปที่แกลเลอรีอีกสองแห่งคือ ROH Projects และ Gajah Gallery Jakarta ก่อนไปปิดท้ายยามค่ำที่ Museum MACAN ที่กำลังจัดแสดงงานของ Agus Suwage หนึ่งในศิลปินชั้นนำของอินโดนีเซีย ที่ผลงานปรากฏขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองของประเทศช่วงกลางทศวรรษ 90 แสดงความหวังและความคับข้องใจของคนรุ่นที่ต้องเจอการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านอำนาจและอัตลักษณ์ผลจากการปฏิรูปแห่งชาติและโลกาภิวัตน์ 

ทั้งหกแกลเลอรีที่ไปชมมีชาวอินโดนีเซียทุกเพศทุกวัยเข้าไปเสพงานศิลปะด้วยมากมาย ที่อดยิ้มไม่ได้คือพ่อแม่จูงลูกน้อยมาด้วย เชื่อแน่ว่าชิ้นงานเหล่านั้นจะช่วยสร้างจินตนาการให้เด็กๆ ได้   และสิ่งที่เหมือนกันในทุกแกลเลอรีคือคนหนุ่มสาวที่เข้าไปถ่ายรูปอัพโซเชียลมีเดีย พวกเขาอาจไม่ใช่คนรักศิลปะ แค่มาหาที่เก๋ๆ ถ่ายรูป แต่การมีสถานที่แบบนี้ให้คนหนุ่มสาวได้ไปใช้เวลาว่าง ย่อมช่วยเยียวยาหัวใจและสร้างแรงบันดาลใจให้คนกลุ่มที่เป็นพลังของสังคม จึงไม่ต้องแปลกใจที่อาร์ต จาการ์ตา จะสะท้อนให้เห็นพลังของศิลปะที่มีต่ออินโดนีเซีย ประเทศใหญ่อันดับหนึ่งของอาเซียนทั้งในแง่ประชากร เศรษฐกิจ และการเมือง ไม่เกินเลยที่จะบอกว่า ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประเทศ