สัมพันธ์ขม‘วิลเลียม-แฮร์รี’ 25 ปีสิ้นเจ้าหญิงไดอานา

สัมพันธ์ขม‘วิลเลียม-แฮร์รี’  25 ปีสิ้นเจ้าหญิงไดอานา

เจ้าหญิงไดอานา อดีตชายาเจ้าฟ้าชายชาร์ลส มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 31 ส.ค.2540 ทิ้งไว้แต่โอรสน้อยเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี เปรียบเสมือนตัวแทนให้โลกหายคิดถึง แต่ถึงวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสองพี่น้องที่เคยใกล้ชิดกันมากกลับมีรอยร้าว

“แฮร์รีกับวิลส์แทบจะไม่ได้คุยกันเลยหลังเม็กซิท” แทบลอยด์เดอะซันรายงานเมื่อไม่กี่วันก่อน อ้างถึงการตัดสินใจของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน มาร์เคิล ชายา ที่ยกเลิกการปฏิบัติพระกรณียกิจในฐานะราชวงศ์ชั้นสูงเมื่อปี 2563 แล้วย้ายไปอยู่สหรัฐ

เจ้าชายวิลเลียม โอรสองค์โต ชันษา 40 ปี ของเจ้าหญิงไดอานาผู้ล่วงลับ ทรงพร้อมรับความเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงและปฏิบัติพระกรณียกิจมากขึ้น ขณะที่พระอนุชา ชันษา 37 ปี ทรงใช้ชีวิตแหกขนบที่แคลิฟอร์เนีย

สัมพันธ์ขม‘วิลเลียม-แฮร์รี’  25 ปีสิ้นเจ้าหญิงไดอานา

“ผมสงสัยว่ารอยร้าวลึกมาก” ริชารด์ ฟิตซ์วิลเลียมส์ นักวิจารณ์ราชวงศ์เผยกับเดลิเมล

จะว่าไปแล้วเรื่องราวในอดีตแตกต่างจากทุกวันนี้มากตอนที่เจ้าหญิงไดอานา สิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุด้วยชันษา 36 ปีเจ้าชายน้อยทั้งสองพระองค์สร้างความสะเทือนใจให้ชาวโลกขณะดำเนินตามโลงศพพระมารดา เจ้าชายวิลเลียม ชันษา 15 ปี ส่วนเจ้าชายแฮร์รีเพียง 12 ปีเท่านั้น ทั้งคู่ทรงศึกษาในโรงเรียนประจำ “อีตัน” หลังจากนั้นเจ้าชายแฮร์รีทรงฝึกทหาร เจ้าชายวิลเลียมทรงศึกษาในมหาวิทยาลัย

ความสัมพันธ์ยิ่งใกล้ชิดเมื่อเจ้าชายวิลเลียมเสกสมรสกับเคท มิดเดิลตัน หวานใจที่คบกันมานานในปี 2554 และทรงเริ่มต้นสร้างครอบครัว

“ความสัมพันธ์พี่น้องอันงดงามที่ทั้งคู่แสดงออกมา ช่วยทำให้ราชวงศ์กลับมาอยู่กับร่องกับรอยได้มาก” เอ็ด โอเวนส์ นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ราชวงศ์เผยกับสำนักข่าวเอเอฟพี

แต่หลังจากเจ้าชายแฮร์รีเสกสมรสกับเมแกนในปี 2561 ความสัมพันธ์กลับตึงเครียด พระองค์ประทานสัมภาษณ์ในปี 2562 ว่า พระองค์และพระเชษฐาทรงอยู่ “บนเส้นทางที่แตกต่าง” หนึ่งปีต่อมาเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน ประกาศข่าวสะเทือนอารมณ์เรื่องจะย้ายไปอยู่สหรัฐ

หลังจากนั้นทั้งคู่ทิ้งระเบิดในการให้สัมภาษณ์กับโอปราห์ วินฟรีย์เมื่อเดือน มี.ค.2564 ที่เมแกนอ้างต่อหน้าสาธารณชนว่าเคททำให้เธอร้องไห้

อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างที่สร้างความเสียหายมากที่สุดคือเธอบอกว่า เชื้อพระวงศ์องค์หนึ่งสงสัยว่า ทายาทลูกผสมของเมแกนจะมีผิวสีใด ต่อมาเจ้าชายวิลเลียมตรัสกับนักข่าวคนหนึ่งว่า ราชวงศ์อังกฤษ “ไม่ใช่ครอบครัวเหยียดผิว” เลยแม้แต่น้อย

ไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

พี่น้องคู่นี้ไม่ชอบสื่อแท็บลอยด์ของอังกฤษมาตลอดนับตั้งแต่พระมารดาสิ้นพระชนม์ เจ้าชายแฮร์รีตรัสกับวินฟรีย์ว่าพระองค์ออกจากสหราชอาณาจักรเพื่อป้องกัน “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” ทรงเปรียบการที่นักข่าวปฏิบัติต่อเมเกนเหมือนช่างภาพไล่ล่าเจ้าหญิงไดอานา

สองพี่น้องแทบไม่ได้คุยกันเลยตอนร่วมกันเปิดอนุสาวรีย์เจ้าหญิงไดอานาที่นอกพระตำหนักเคนซิงตันเมื่อเดือน ก.ค.2564 ส่วนในงานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (แพลตินัม จูบิลี) เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งสองพระองค์ประทับกันคนละฟากตอนทำพิธีในโบสถ์

เดอะเดลิเทเลกราฟระบุ “ดูเหมือนไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กันเลย” พร้อมอ้างถึงความไม่สบายพระทัยของเจ้าชายวิลเลียมต่อบทสัมภาษณ์กับโอปราห์

เจ้าชายแฮร์รีและเมแกนมีกำหนดเยือนสหราชอาณาจักรอีกครั้งในเดือน ก.ย. ห่างจากครั้งล่าสุดแค่สามเดือน และจะพำนักที่ตำหนักวินด์เซอร์ของควีน ใกล้กับตำหนักใหม่ของเจ้าชายวิลเลียม แต่หนังสือพิมพ์อังกฤษรายงานว่า สองพี่น้องไม่มีแผนจะพบกัน

กระนั้น โรเบิร์ต ฮารด์แมน อดีตผู้สื่อข่าวสายราชสำนักกล่าวถึงความเป็นไปได้ของการคืนดี

“เห็นได้ชัดว่าพวกเขาห่างเหินแต่ก็เป็นพี่น้องกัน ครอบครัวก็เป็นแบบนี้” ผู้ประพันธ์หนังสือ“Queen of Our Times: The Life of Queen Elizabeth II” เผยแพร่ในปีนี้ให้ความเห็น ทั้งยังยกย่องการแสดงบทบาทอย่างสง่างามของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน ตอนกลับมาอังกฤษเพื่องานแพลตินัมจูบิลีและเข้าเฝ้าควีน

“สำหรับผมนั่นดูเหมือนการทำให้ทริปกลับสหราชอาณาจักรเป็นแบบกึ่งปกติ แต่ละครั้งที่มาทุกสิ่งทุกอย่างค่อยๆ ลดความบาดหมางลง” นักเขียนดังกล่าวเสริม

บันทึกความทรงจำชวนวิตก

อนาคตของความสัมพันธ์ยังคงขึ้นอยู่กับหนังสือบันทึกความทรงจำของเจ้าชายแฮร์รีโดยนักเขียนเงาที่จะเผยแพร่หลังจากนี้ เดอะเทเลกราฟรายงานว่า นี่เป็นเหตุให้เชื้อพระวงศ์กังวล กลัวว่าหนังสือ “จะถูกใช้ทำแต้มแล้วอ้างเรื่องเรียกอารมณ์คนต่อไปอีก”

“หนังสือนี่จะเป็นระเบิดลูกใหญ่ ผมคาดว่าจะเขียนถึงสื่อรุนแรงมาก และพูดถึงเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงค่อนข้างแรงด้วย ผมจะประหลาดใจมากถ้าพระองค์เริ่มทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ลงไปอีก” ฮารด์แมนกล่าว ซึ่งตรงข้ามกับที่คนส่วนใหญ่คาดการณ์

ขณะที่ ฟิล แดมเพียร์ ผู้เชี่ยวชาญราชวงศ์อีกคนมองในแง่ร้ายมากกว่า

“ผมไม่เห็นโอกาสปรองดองได้เลยระหว่างครอบครัวซัสเซกซ์กับครอบครัวเคมบริดจ์ จนกว่าหนังสือของแฮร์รีจะออกมาและเป็นไปได้ว่าจะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายไปกว่าเดิม” แดมเพียร์ทวีตข้อความ

ส่วนความคิดเห็นของผู้คนที่ว่า ราชวงศ์ต้องการเจ้าชายแฮร์รีหรือไม่ก็แตกต่างกันไป

“ไม่มีใครใหญ่ไปกว่าสถาบัน ดังนั้นสถาบันกษัตริย์จะดำรงอยู่ต่อไปไม่ว่าจะมีหรือไม่มีพวกเขาก็ตาม พวกเขาไม่จำเป็นเลย” ฮาร์ดแมนกล่าวถึงเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน

แต่โอเวนส์โต้ว่า การออกไปของเจ้าชายแฮร์รีทำให้สถาบันกษัตริย์สูญเสียผู้กอบกู้รายหนึ่งไป เชื้อพระวงศ์ไม่เป็นทางการ ผู้ “ติดดินมากกว่าและเข้าถึงได้ง่ายกว่า”

ด้านทีนา บราวน์ นักเขียนราชสำนัก กล่าวกับเดอะการ์เดียน“ดิฉันคิดว่าถึงจุดหนึ่งพวกเขาจะต้องการให้เจ้าชายแฮร์รีกลับมา” เธอเปรียบเจ้าชายแฮร์รีเป็น “สินทรัพย์” ที่จะช่วยลดแรงกดดันต่อเจ้าชายวิลเลียมและเคท

สัมพันธ์ขม‘วิลเลียม-แฮร์รี’  25 ปีสิ้นเจ้าหญิงไดอานา