“เอเปค” ถอดบทเรียน "บิทคับ" ต้นแบบสตาร์ทอัพ

“เอเปค” ถอดบทเรียน "บิทคับ" ต้นแบบสตาร์ทอัพ

"เอเปค" ถอดบทเรียน "บิทคับ"ต้นแบบสตาร์ทอัพ เมื่อโอกาสทางธุรกิจท่ามกลางเศรษฐกิจดิจิทัลกำลังมีมากขึ้น รัฐบาลควรกำหนดนโยบายร่วมกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์และสร้างการเรียนรู้กันและกัน ทั้งลดช่องว่างระหว่างเอกชนกับรัฐบาล หาสมดุลและทางออกดีที่สุด

สตาร์ทอัพและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค จะช่วยบ่มเพาะนวัตกรรมและเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในภูมิภาคนี้ได้อย่างไร ไปติดตามเวที APEC Media Focus Group (AMF7) ครั้งที่ 7 ภายใต้หัวข้อ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ Open. Connect. Balance.” จากมุมมองและประสบการณ์ของผู้คร่ำวอดในภาคอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี 

"จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทบิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวถึงความท้าทายของสตาร์ทอัพในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเทคโนโลยีว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปค 2022 ของประเทศไทยในครั้งนี้มีขึ้นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ต่างชาติเห็นว่า ประเทศไทยมีสิ่งแวดล้อมพร้อมรับการทำธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี และเหมาะต่อการลงทุน

 

“เอเปค” ถอดบทเรียน "บิทคับ" ต้นแบบสตาร์ทอัพ

สำหรับสตาร์ทอัพ สิ่งสำคัญที่สุดคือไทยมีกองทุนสนับสนุนการทำธุรกิจดีๆ มากมาย แต่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก และนักลงทุนจะเริ่มให้ความสนับสนุนกับธุรกิจที่เติบโตได้ดีแล้ว ต่างจากสิงคโปร์ที่ธุรกิจสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายมาก เพียงมีไอเดียก็สามารถได้ทุนสนับสนุน

“ผมเห็นว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญในการจัดสรรเงินทุนให้แก่ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศ ซึ่งกองทุนจะต้องสามารถ ‘spray&pay’ คือแจกจ่ายให้ทั่วถึงธุรกิจสตาร์ทอัพ จนตั้งตัวได้” จิรายุสกล่าวและระบุว่า ปัญหาอีกอย่างคือ เราขาดแคลน “ทุนมนุษย์” ดังนั้น นโยบายรัฐบาลควรปลดล็อคทุนมนุษย์เข้ามาในประเทศด้วย เพราะทางที่ดีที่สุดของการพัฒนาทุนมนุษย์คือการเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานแรงงาน ไทยจึงจะสามารถเรียนรู้ทักษะพิเศษจากชาวต่างชาติได้และควรมีช่องทางสื่อสารกับผู้นำธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจสตาร์ทอัพได้ศึกษาแนวทางจากผู้มีประสบการณ์

นอกจากนี้ ยังมีช่องว่างระหว่างการสื่อสารของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในบริษัท อาจปิดบังบางอย่างต่อกันอยู่ สิ่งนี้ควรหมดไป รวมถึงบริษัทเอกชนและรัฐบาลหรือผู้ออกมาตรการต่าง ๆ เปิดพื้นที่ให้สามารถพูดคุยกันมากขึ้น

เทรนด์อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีกำลังมา ทำให้เห็นแนวโน้มการลงทุนขนาดใหญ่ จิรายุสกล่าวแนะนำว่า เราทุกคนไม่ควรต่อสู้เพื่อแข่งขันกัน แต่ควร “รวมพลังเป็นภูมิภาคเดียวกัน” พร้อมต้อนรับนักลงทุนทั่วโลกและไร้ซึ่งความขัดแย้งระหว่างกัน เพราะความขัดแย้งสร้างความเสียหายแก่ทุกคน เราควรสร้างความสัมพันธ์อันดีเพื่อให้ภูมิภาคได้รับโอกาสลงทุนมากที่สุด

 

“เอเปค” ถอดบทเรียน "บิทคับ" ต้นแบบสตาร์ทอัพ

อย่างไรก็ตาม โอกาสทางเศรษฐกิจดิจิทัลกำลังมีมากขึ้น เราควรกำหนดนโยบายร่วมกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์และสร้างการเรียนรู้กันและกัน  ทั้งลดช่องว่างระหว่างเอกชนกับรัฐบาล  หาสมดุลและทางออกดีที่สุด เพื่อได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ในภูมิภาคของเราต่อไปบนพื้นฐานความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับภูมิภาคเอเชีย-แฟซิฟิก

ธนวัต ศิริกุล” รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศมีความพยายามเข้าถึงคนรุ่นใหม่ และการที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค 2022 จะเป็นโอกาสแสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งชี้ให้เห็นกลไกใหม่ๆที่ช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตอกย้ำจุดแข็งของไทยด้านนวัตกรรมและผลักดันสตาร์ทอัพไปสู่ระดับภูมิภาค 

"ณัฐพล  นิมมานพัชรินทร์" ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เล่าว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ดีป้าพิจารณาอย่างรอบด้านที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แน่นอนเรามักเจอปัญหาวิธีคิดแบบเดิมๆ แล้วจะทำอย่างไรให้อุตสากรรมพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ภาคการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยวเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมใหม่และเติบโตไปพร้อมกัน

“นโยบายรัฐบาลเริ่มมีมากขึ้น และเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องทำให้ทุกคน ทุกระดับ ทุกธุรกิจและอาชีพได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม” ณัฐพลระบุและกล่าวว่า ตอนนี้คุณจะเห็นว่า ผู้มีทักษะและความสามารถทางเทคโนโลยีกำลังมาแรงเพื่อมาเติมเต็มประเทศให้ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ขณะเดียวกัน เราก็มีนักลงทุนและสถาบันการธนาคารจำนวนมากที่จะช่วยเงินทุนสนับสนุนกับสตาร์ทอัพ

 

“เอเปค” ถอดบทเรียน "บิทคับ" ต้นแบบสตาร์ทอัพ

"ปฤณัต อภิรัตน์" รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในเอเชีย-แปซิฟิกมีสัดส่วน 92% ของผู้ประกอบการทั้งหมด จะเป็นกุญแจสำคัญช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งการส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจถือเป็น "การเปิดกว้าง" นำไปสู่การลงทุนเพื่อการค้า เมื่อ "สร้างสัมพันธ์" จนเป็นเครือข่ายก็จะประสานการทำงานให้ได้ "ความสมดุล" ตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนมากขึ้น 

ปฤณัต กล่าวให้ข้อคิดว่า การทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและเป็นโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น จะช่วยให้เราทุกคนเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าเรื่องสุขภาพ การระบาดโรคอุบัติใหม่ เศรษฐกิจที่หยุดชะงักได้