ดาวโจนส์ดิ่งเหว ทรุด 1,008.38 จุดหวั่นเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงฉุดเศรษฐกิจถดถอย

ดาวโจนส์ดิ่งเหว ทรุด 1,008.38 จุดหวั่นเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงฉุดเศรษฐกิจถดถอย

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์ (26ส.ค.)ดิ่งหนัก 1,008.38 จุด หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ย้ำว่าเฟดจะยังคงเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มที่เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในเดือนก.ย.

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวร่วงลง 1,008.38 จุด หรือ  3.03% ปิดที่ 32,283.40 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วง 3.37%  ปิดที่ 4,057.66 จุด และดัชนีแนสแด็ก ร่วง 3.94%  ปิดที่ 12,141.71 จุด

หุ้นของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ดิ่งลงกว่า 1% หลังบริษัทโมเดอร์นา อิงค์ ประกาศฟ้องไฟเซอร์ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งใช้เทคโนโลยี mRNA

ทั้งนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น โดยเฟดจะยังคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐ

"เราจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป จนกว่าจะมั่นใจว่าภารกิจของเราจะประสบความสำเร็จ โดยภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากการที่เฟดยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพของราคาจะทำให้เกิดผลกระทบมากกว่า" นายพาวเวลกล่าวในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮลในวันนี้

นอกจากนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดยังคงจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และเฟดจะไม่ตัดทางเลือกในการ "ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่มากกว่าปกติ" ในเดือนก.ย.

นายพาวเวลย้ำว่าเฟดจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตสะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินการที่ล่าช้าเกินไปจะทำให้ตลาดแรงงานทรุดตัวลงอย่างหนัก

"แมัว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงในเดือนก.ค.เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ข้อมูลเพียงเดือนเดียวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คณะกรรมการเฟดเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อได้ปรับตัวลงแล้ว" นายพาวเวลกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.8% และชะลอตัวจากระดับ 4.8% ในเดือนมิ.ย.

ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ