เจซี 'ไทย-อินเดีย' ครั้งที่ 9 เชื่อมเศรษฐกิจไร้รอยต่อ

เจซี 'ไทย-อินเดีย' ครั้งที่ 9 เชื่อมเศรษฐกิจไร้รอยต่อ

อินเดียถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในเอเชียใต้ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะอีอีซี

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย - อินเดียครั้งที่ 9 (The 9th Meeting of the India-Thailand Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศไทย-อินเดียครั้งแรกตั้งแต่ปี 2562 หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ความร่วมมือของสองฝ่ายชะลอตัว

“สุพรหมณยัม ชัยศังกระ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย กล่าวว่า อินเดียและไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านทางทะเลที่ใกล้ชิดกัน มีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมทั้งความร่วมมือที่หลากหลายภายใต้นโยบาย “Act East” ของอินเดียเสริมด้วยนโยบาย “Look West” ของไทย

"ไทยเป็นประเทศเป้าหมายที่สำคัญในอาเซียนสำหรับนักลงทุนอินเดีย โดยอินเดียพร้อมผลักดันและสนับสนุนให้นักธุรกิจอินเดียเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องการให้สนับสนุนให้นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนในอินเดียเพิ่มขึ้นเช่นกัน" ชัยศังกระกล่าว

“ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า  ไทยและอินเดียเป็นมิตรที่มีความใกล้ชิด โดยทั้งสองอยู่ระหว่างการฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งครบรอบ 75 ปีเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 และได้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนในช่วงเดือนนี้ผ่านช่องทางต่าง ๆ 

"ที่ประชุมได้หารือครอบคลุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ ทั้งทางบก ทะเล อากาศ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19" ดอน กล่าว 

ทั้งสองเห็นพ้องให้รื้อฟื้นพลวัตความร่วมมือในกลไกต่าง ๆ เร่งจัดการประชุมที่คั่งค้าง และเตรียมการแลกเปลี่ยนระดับสูงระหว่างกันในอนาคต เพื่อหาข้อสรุปความตกลงต่าง ๆ และกระชับความร่วมมือได้แก่

• ด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้กระชับความร่วมมือในด้านกลาโหมและความมั่นคง รวมถึงการขยายความร่วมมือในสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน อาทิ ความมั่นคงไซเบอร์ การส่งเสริมสันติภาพ ผลักดันความร่วมมือด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ อาทิ ความมั่นคงทางทะเล อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงการฝึกอบรมด้านความมั่นคงไซเบอร์

• ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่การค้าทวิภาคีได้เพิ่มขึ้นถึง 1.49 หมื่นล้านดอลลาร์ นับเป็นสถิติใหม่ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคเอกชนสองฝ่าย โดยตั้งเป้าจัดการประชุม Joint Business Forum ครั้งที่ 2 เพื่อเป็นเวทีหารือระหว่างภาคธุรกิจของสองประเทศ รวมถึงจัดตั้งแพลตฟอร์ม ออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกิจสตาร์ทอัพและยูนิคอร์น 

อินเดียถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในเอเชียใต้ ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งรัฐบาลได้พัฒนาโครงการและโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง พร้อมเชิญชวนให้นักลงทุนอินเดียเข้ามาลงทุนในธุรกิจกลุ่มเป้าหมาย ในสาขาที่อินเดียมีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร

• ด้านสังคม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำที่จะใช้ประโยชน์ส่งเสริมการแลกเปลี่ยน ระหว่างนักศึกษา ประชาชน และนักท่องเที่ยวสองฝ่าย และยินดีที่นักท่องเที่ยวทั้งสองประเทศได้เริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยอินเดียเป็นหนี่งในแหล่งนักท่องเที่ยวสำคัญของไทยนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 และทั้งสองฝ่าย หวังว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ปริมาณก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิดที่มีประมาณ 2 ล้านคนต่อปี โดยนักท่องเที่ยวอินเดียมีความชื่นชอบการท่องเที่ยวในไทย รวมถึงชื่นชอบการจัดงานแต่งงานในไทย 

• ด้านสาธารณสุข ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความช่วยเหลือกันและกันอย่างใกล้ชิด โดยในการประชุมเจซีครั้งที่ 9 ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยด้านการวิจัยทางการแพทย์ระหว่างสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดีย (Indian Council of Medical Research) กับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งเป็นผลจากการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีสองฝ่ายเมื่อปี 2563 จะช่วยสนับสนุน การแลกเปลี่ยนด้านการวิจัยและพัฒนาการแพทย์ระหว่างสองประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้าน การแพทย์และเภสัชกรรม

• ด้านความเชื่อมโยงทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อบรรลุการพัฒนาโครงการถนนสามฝ่าย อินเดีย - เมียนมา - ไทย (India - Myanmar - Thailand Trilateral Highway) ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงอินเดียกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่งเสริมการค้าการลงทุน ตลอดจนการเดินทางในระดับประชาชนระหว่างกันมากขึ้น

• ด้านการท่องเที่ยว ชาวอินเดียเป็น 1 ในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย โดยเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรมุ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนมากขึ้น พร้อมทั้งหาแนวทางในการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกันเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต

ดอนและชัยศังกระได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์สำคัญในภูมิภาคและในเวทีโลก และแลกเปลี่ยนแนวทางที่ไทยและอินเดียจะสามารถร่วมมือในเวทีความร่วมมือต่าง ๆ ในภูมิภาค ทั้งในกรอบอาเซียน บิมสเทค และ เพื่อบรรเทาปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะสถานการณ์เมียนมา ซึ่งเป็นประเด็นหลายฝ่ายห่วงกังวลอยู่ในตอนนี้