WHO วอนสาธารณชนช่วยเปลี่ยนชื่อฝีดาษลิง งดสร้างตราบาป

WHO วอนสาธารณชนช่วยเปลี่ยนชื่อฝีดาษลิง งดสร้างตราบาป

องค์การอนามัยโลกที่พยายามเปลี่ยนชื่อฝีดาษลิง ขอความช่วยเหลือจากสาธารณชนช่วยตั้งชื่อที่ไม่สร้างตราบาปให้กับโรคระบาดอย่างรวดเร็วนี้

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน เป็นเวลาหลายสัปดาห์มาแล้วที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กังวลเรื่องชื่อฝีดาษลิงที่เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกในเดือน พ.ค. ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ชื่อนี้อาจกำลังสร้างตราบาปให้กับสัตว์ตระกูลไพรเมต ทั้งๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบาดเพียงน้อยนิด ทั้งยังสร้างความเสียหายให้กับทวีปแอฟริกาที่มีลิงหลายชนิด ตัวอย่างล่าสุด เช่น ในบราซิลมีรายงานคนทำร้ายลิงเพราะความกลัวติดโรค

ฟาเดลา ชาอิบ โฆษก WHO แถลงในนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่าชื่อฝีดาษลิงในมนุษย์ถูกตั้งขึ้นก่อนมีแนวทางที่ดีที่สุดในการตั้งชื่อโรค “จริงๆ แล้วเราต้องการหาชื่อที่ไม่สร้างตราบาป” โฆษกกล่าวและว่า ขณะนี้เปิดให้ทุกคนเสนอชื่อได้ผ่าน เว็บไซต์

ชื่อฝีดาษลิงได้มาหลังไวรัสตัวนี้ถูกพบครั้งแรกในลิงที่เลี้ยงไว้สำหรับทำวิจัยในเดนมาร์กเมื่อปี 2491 แต่เชื้อโรคฝีดาษลิง นี้ยังพบในสัตว์ชนิดอื่นด้วย ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ฟันแทะ

ฝีดาษลิงพบในมนุษย์ครั้งแรกในปี 2513 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

นับจากนั้นการติดต่อในมนุษย์จำกัดอยู่ในประเทศแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางที่ฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่น แต่ในเดือน พ.ค.การติดเชื้อกระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่ในกลุ่มชายผู้มีเพศสัมพันธ์กับชาย

ข้อมูลจาก WHO ที่กำหนดให้การระบาดของฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก เผยว่า ตั้งแต่ต้นปีมีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงทั่วโลกกว่า 31,000 คน เสียชีวิต 12 คน

แม้ไวรัสสามารถข้ามจากสัตว์สู่มนุษย์ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญ WHO ยืนยันการระบาดทั่วโลกระลอกล่าสุดมาจากการติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ สัปดาห์ก่อน WHO จึงประกาศว่า ที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องหาชื่อใหม่ให้สายพันธุ์ฝีดาษลิง ที่ตอนนี้มีสองสายพันธุ์หลักตั้งชื่อตามสภาพภูมิศาสตร์ที่โรคกระจายอยู่ ได้แก่ ลุ่มน้ำคองโกและแอฟริกาตะวันตก ผู้เชี่ยวชาญเห็นชอบให้ใช้เลขโรมันแทนเป็น เคลด 1และเคลด 2สายพันธุ์ย่อยของเคลด 2เรียกว่า เคลด 2บี ถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญอยู่เบื้องหลังการระบาดทั่วโลก