เงินเฟ้อเอเชียผ่านจุดพีค-คาดแบงก์ชาติงดขึ้นดอกเบี้ยแรง

เงินเฟ้อเอเชียผ่านจุดพีค-คาดแบงก์ชาติงดขึ้นดอกเบี้ยแรง

เงินเฟ้อเอเชียผ่านจุดพีค-คาดแบงก์ชาติงดขึ้นดอกเบี้ยแรง โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขาลงและได้ปรับตัวลงแล้วประมาณ 0.5% จากระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อในสหรัฐซึ่งพุ่ง 9% และเทียบกับเงินเฟ้อในยุโรปที่ 8.5-9%”

"ภาวะเงินเฟ้อ"เป็นคำที่สร้างความปวดหัวให้แก่รัฐบาลแทบทุกประเทศทั่วโลก และดูจะเป็นปัญหาที่ผู้คนในทุกประเทศให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆเมื่อเทียบกับปัญหาด้านอื่นๆในการดำเนินชีวิต ล่าสุด "เชตัน อาห์ยา" หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียของธนาคารมอร์แกน สแตนลีย์  กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว เมื่อเทียบกับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่รายอื่น ๆ อย่างสหรัฐและยุโรป

“หากดูข้อมูลที่มีการเปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ จะเห็นภาพที่ชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อในเอเชียได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือจะเห็นอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มขาลง อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในเอเชียได้พุ่งแตะระดับสูงสุดที่ 5.5% และได้ปรับตัวลงไปแล้วประมาณ 0.5% จากระดับสูงสุดดังกล่าว เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐซึ่งพุ่งแตะระดับสูงสุดที่ 9% และเทียบกับเงินเฟ้อในยุโรปซึ่งอยู่ที่ระดับ 8.5-9%” อาห์ยา ให้สัมภาษณ์ในรายการ “Squawk Box Asia” ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี

อาห์ยา กล่าวว่า มีสัญญาณเพียงเล็กน้อยที่บ่งชี้ว่าอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียอยู่ในระดับที่ร้อนแรงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศส่วนใหญ่ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด
 

“สิ่งที่สามารถอธิบายถึงสถานะของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเอเชียได้ก็คือเศรษฐกิจส่วนใหญ่อยู่ในช่วงกลางของวงจรการฟื้นตัว ผมคิดว่านั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่จะอธิบายว่าทำไมเราจึงเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ภายใต้การควบคุม และธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรงมากขึ้น” อาห์ยา กล่าว

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% และส่งสัญญาณว่าจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัวสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม  อายาห์ กล่าวว่า “แม้ภาวะเงินเฟ้อในเอเชียจะอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ แต่ก็คาดว่าแนวโน้มการส่งออกของเอเชียยังคงอ่อนแอ สิ่งที่เราต้องพิจารณาในขณะนี้ก็คือ ปริมาณการส่งออกและมูลค่าการส่งออกในเอเชียปรับตัวลงไปแล้วประมาณ 1% – 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากเมื่อ 12 เดือนที่แล้วตัวเลขดังกล่าวเคยขยายตัวแข็งแกร่งถึง 10% และเราคาดว่าแนวโน้มการส่งออกของเอเชียในวันข้างหน้าจะยังไม่สดใสมากนัก”

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ ยังคาดการณ์ว่า แม้ระบบห่วงโซ่อุปทานดีขึ้น สินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการสินค้าจะลดลงในเดือนข้างหน้า นอกจากนี้ ตลาดแรงงานของเอเชีย ซึ่งต่างจากในสหรัฐนั้นไม่ตึงตัว ซึ่งช่วยให้ภูมิภาคนี้สามารถควบคุมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้

ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก ให้ความเห็นว่า เงินเฟ้อน่าจะอยู่ใกล้จุดสูงสุดแล้ว จาก 3 ปัจจัยหลัก 1) Inventory ของบริษัทสหรัฐ โดยเฉพาะในฝั่งของค้าปลีก ยังอยู่ในระดับที่สูง 2) ราคาของเซมิคอนดักเตอร์ ที่นำไปประกอบชิ้นส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ราคาปรับตัวลงมาราวครึ่งนึงเมื่อเทียบกับระดับสูงสุดในเดือนก.ค. ปี 2561 และปรับตัวลงถึง 14% เมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่แล้ว รวมถึงราคาตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งสินค้าทางเรือที่ปรับตัวลงถึง 26% นับจากจุดสูงสุดในช่วงก.ย. ปี 2564  และราคาปุ๋ยในสหรัฐที่สะท้อนถึงเงินเฟ้อของราคาอาหารสด ที่ปรับตัวลง 24% จากจุดสูงสุดของเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา 3) ฐานเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐในปีที่แล้วที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนยุโรป ประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปประจำเดือน มิ.ย. ขยายตัวตามที่ตลาดคาดการณ์ 8.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือน มิ.ย. อยู่ที่ 3.7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์เช่นกัน

การที่อัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามคาดการณ์ ส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะไม่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อคุมความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ประเทศในกลุ่มที่เผชิญภาวะเงินเฟ้อหนักสุด คือ เอสโตเนีย 22% ลิทัวเนีย 20.5% และลัตเวีย 19.2% ส่วนประเทศที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำสุดในกลุ่ม คือ มอลตา 6.1% ฝรั่งเศส 6.5% และฟินแลนด์ 8.1%

สำหรับสินค้าที่ส่งผลให้เงินเฟ้อในยุโรปพุ่งสูง เรียงจากมากไปน้อย คือ พลังงาน อาหาร แอลกอฮอล์ ยาสูบ การบริการ และสินค้าอุตสาหกรรม

ส่วนสถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐ แม้จะบรรเทาลงแต่ธุรกิจรายย่อยของสหรัฐชี้เงินเฟ้อเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในปีนี้

เว็บไซต์เดอะการ์เดียน รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นเอฟไอบี) ว่า เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงได้กลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับธุรกิจรายย่อยในสหรัฐในปีนี้

รายงานระบุว่า ธุรกิจรายย่อยมากถึง 91% ระบุว่า “เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ หรือปานกลาง” ขณะที่ธุรกิจรายย่อยเกือบ 70% ได้ปรับขึ้นราคาสินค้าเนื่องจากผกระทบของเงินเฟ้อ

ขณะที่ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า ธุรกิจรายย่อย 65% จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าในปีนี้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจของโกลด์แมนแซคส์ ยังบ่งชี้ว่า เกือบ 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐย่ำแย่ลงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา