นักเขียนดัง‘ซัลมาน รัชดี’เหยื่อความรุนแรงของกลุ่มสุดโต่ง

นักเขียนดัง‘ซัลมาน รัชดี’เหยื่อความรุนแรงของกลุ่มสุดโต่ง

นักเขียนดัง‘ซัลมาน รัชดี’เหยื่อความรุนแรงของกลุ่มสุดโต่ง ด้าน "ริชี ซูแนค"ผู้ท้าชิงหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ ระบุ อังกฤษควรจัดให้หน่วยพิทักษ์สาธารณัฐอิสลามของอิหร่าน อยู่ในบัญชีก่อการร้าย และการทำร้ายรัชดีเหมือนนาฬิกาปลุกสำหรับโลกตะวันตก”

“ซัลมาน รัชดี”  นักเขียนชาวอังกฤษ เชื้อสายอินเดีย วัย 75 ปี ได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่สถานบันเชอทอควาในนิวยอร์ก ขณะที่เขากำลังจะขึ้นเวทีบรรยาย ก็มีชายคนหนึ่งรีบขึ้นไปบนเวทีก่อนการบรรยายที่มีผู้ฟัง 2,500 คน และจ้วงแทงเขาหลายแผล เจ้าหน้าที่จึงรีบนำตัวเขาส่งตัวไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการผ่าตัดด่วน        

“แอนดรูว์ ไวลี” ตัวแทนของรัชดี เล่าว่า รัชดีได้รับบาดเจ็บที่ตับ เส้นประสาทที่แขนถูกตัดขาด และมีโอกาสที่จะสูญเสียดวงตา แต่ ล่าสุดแพทย์ได้ถอดเครื่องช่วยหายใจ และรัชดีสามารถพูดได้แล้ว

เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวผู้ก่อเหตุไว้ได้ โดยระบุว่าชื่อ “ฮาดี มาตาร์” อายุ 24 ปี มาจากรัฐนิวเจอร์ซีย์ บิดาและมารดาของเขาอพยพมาจากเลบานอน 

มาตาร์ เกิดหลังจากที่หนังสือ “เดอะ ซาตานิก เวอร์เซส” ตีพิมพ์เผยแพร่แล้วนับสิบปีและตอนนี้้ยังไม่ทราบแรงจูงใจในการก่อเหตุแต่เจ้าหน้าที่เตรียมตรวจสอบกระเป๋าเป้สะพายหลัง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของมาตาร์ที่พบในที่เกิดเหตุ  แต่ผู้ต้องสงสัย ซึ่งก่อเหตุบุกแทงรัชดี ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาพยายามฆ่า
 

ด้านสื่อท้องถิ่นหลายแห่งรายงานว่า ผลการตรวจสอบบัญชีผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของมาตาร์ พบว่ามีความชื่นชอบแนวคิดชีอะห์หัวรุนแรง และกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่พบความเชื่อมโยง หรือช่องทางที่จะขยายผลได้

ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวเอพี ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า คนร้ายขึ้นไปเผชิญหน้ากับรัชดีบนเวที ขณะที่มีการแนะนำตัวรัชดี จากนั้นคนร้ายได้แทงหรือต่อยเขาประมาณ 10-15 ครั้ง ทั้งที่บริเวณใบหน้า ลำคอ และท้อง ก่อนที่จะถูกผลักจนล้มลงบนเวที และถูกจับกุมตัวได้ในที่สุด

รัชดี เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากหนังสือ “มิดไนท์ ชิลเดรน” (Midnight’s Children) ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลด้านวรรณกรรม “บุ๊กเกอร์ไพรซ์” (Booker Prize) ในปี  2524 แต่ผลงานที่เป็นประเด็นอื้อฉาวมากที่สุด คือ “เดอะ ซาตานิก เวอร์เซส” หรือ “โองการปีศาจ” หนังสือเล่มที่ 4 ของเขาที่ตีพิมพ์ในปี 2531 ที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวมุสลิมจำนวนมากที่มองว่าเป็นการดูหมิ่น และนำไปสู่การประท้วงไปทั่วโลกและมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 คน รวมถึงเหตุจลาจลที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คนในนครมุมไบของอินเดีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา

หนังสือนี้ ยังกลายเป็นหนังสือต้องห้ามในอิหร่าน โดยอยาตอลลาะห์ รูฮัลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านในเวลานั้นเรียกร้องให้มีการปลิดชีพรัชดี พร้อมตั้งค่าหัว 3 ล้านดอลลาร์  ทำให้เขาเผชิญกับคำขู่ฆ่า ต้องดำเนินชีวิตแบบหลบๆซ่อนๆนานกว่า 10 ปี  ต่อมาในปี 2565 องค์กรศาสนากึ่งทางการของอิหร่านได้ประกาศเพิ่มค่าหัวอีก 5 แสนดอลลาร์
 

ด้านรัฐบาลอิหร่านยังคงไม่แสดงปฏิกิริยาใดๆ ต่อข่าวการทำร้ายร่างกายรัชดีครั้งนี้ แต่สื่ออิหร่านระบุรัชดีเป็นคนนอกรีตบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์

“เจสัน ชมิด” อัยการเขตนิวยอร์ก กล่าวว่า คนร้ายวางแผนเพื่อลงมือโจมตีนักเขียนชื่อดังด้วยการทำให้เขาอยู่ในจุดที่สามารถจะทำร้ายรัชดีได้ เดินทางมาที่งานก่อนคนอื่น ใช้บัตรประจำตัวปลอม และขอบัตรผ่านเข้างานล่วงหน้า

หลังเกิดเหตุ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐกล่าวว่า รู้สึกตกใจและเศร้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักเขียนชื่อดังรายนี้ แต่ก็แสดงความชื่นชมในความกล้าหาญของรัชดีที่ปฏิเสธการถูกคุกคามหรือการถูกปิดปาก

ส่วน ริชี ซูแนค ที่กำลังชิงตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมกับลิซ ทรัส รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ในการชิงชัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษต่อจากบอริส จอห์นสัน ที่ประกาศลาออกไปก่อนหน้านี้  เรียกร้องให้เดินหน้าคว่ำบาตรอิหร่านเพื่อลงโทษเกี่ยวกับคดีรัชดี หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐเชื่อว่า มือมีดผู้ก่อเหตุมีความเห็นใจในพวกสุดโต่งชีอะห์

“อังกฤษควรจัดให้หน่วยพิทักษ์สาธารณัฐอิสลามของอิหร่าน อยู่ในบัญชีก่อการร้าย และการทำร้ายรัชดี เหมือนนาฬิกาปลุกสำหรับประเทศตะวันตก”ซูแนค กล่าว

แม้แต่ “เจเค โรว์ลิง” นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษเจ้าของผลงานแฮร์รี พ็อตเตอร์ ที่โด่งดังไปทั่วโลกยังได้รับผลกระทบจากกรณีของรัชดี โดยเธอได้รับคำขู่เอาชีวิตหลังออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนรัชดี ที่ถือเป็นเพื่อนนักเขียนชาวอังกฤษด้วยกันคนนี้