ยุติซ้อมรบ สรุปบทเรียน 'ความขัดแย้งจีน-ไต้หวัน-สหรัฐ'

การซ้อมรบกระสุนจริงที่จีนทำรอบไต้หวัน ด้วยการนำเรือรบมาปิดล้อม ได้ให้ภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อนว่า รัฐบาลปักกิ่งอาจใช้กำลังทหารกับเพื่อนบ้านได้ ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลปักกิ่งยังคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและเพิ่มความพยายามโดดเดียวไต้หวันในเวทีโลก
ความเคลื่อนไหวนี้ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า จะเปลี่ยนสถานภาพเดิมบนช่องแคบไต้หวันไปอย่างถาวร
สำนักข่าวเอเอฟพีสรุปบทเรียนจากการซ้อมรบครั้งใหญ่สุดของจีนรอบไต้หวัน เพื่อตอบโต้การเยือนของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ไว้ดังนี้
จีนสามารถปิดล้อมไต้หวันได้หรือไม่
เป็นครั้งแรกที่กองทัพจีนซ้อมรบทางฝั่งตะวันออกของไต้หวัน พื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับยุทธปัจจัยให้กับกองทัพไต้หวันและการเสริมกำลังของสหรัฐ
นี่เป็นการส่งสัญญาณอันเป็นลางร้ายว่า ตอนนี้รัฐบาลปักกิ่งสามารถปิดล้อมไต้หวันได้ทั้งเกาะ และสามารถปิดการเข้าออกของเรือและเครื่องบินทั้งการทหารและการพาณิชย์ได้
นักวิเคราะห์คาดการณ์กันมานานแล้วว่า นี่จะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่จีนเลือกในการทำสงครามเพื่อพิชิตไต้หวัน
“วิกฤตินี้จะส่งสัญญาณว่า ปักกิ่งมีความสามารถทำการตอบโต้แบบเดียวกันนี้ซ้ำอีกได้อย่างที่ต้องการ แต่การปิดล้อมต่อเนื่องจะสร้างความเสียหายมหาศาล ทั้งต่อชื่อเสียงของจีนและค่าใช้จ่ายด้านการทหารโดยตรง” คริสโตเฟอร์ ทูมีย์ นักวิชาการด้านความมั่นคง บัณฑิตวิทยาลัยกองทัพเรือสหรัฐในแคลิฟอร์เนียกล่าว
ความเสียหายทางเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันเท่ากับว่า ณ ขณะนี้จีนไม่น่าจะเสี่ยงกับความปั่นป่วนใหญ่ในช่องแคบไต้หวัน หนึ่งในเส้นทางเดินเรือจอแจที่สุดของโลก
กองทัพจีนพร้อมรบแล้วหรือ
จีนขยายและปรับปรุงกองทัพอากาศ กองทัพอวกาศ และกองทัพเรืออย่างรวดเร็ว ด้วยเป้าหมายเป็นมหาอำนาจโลก ลดช่องว่างกับกองทัพสหรัฐ
ขีดความสามารถกองทัพจีนตามหลังสหรัฐอยู่ก็จริง แต่ข้อมูลจากเพนตากอนชี้ว่า รัฐบาลปักกิ่งตั้งเป้าต้องมีสมรรถนะเอาชนะแรงต้านในการยึดคืนไต้หวันให้ได้ภายใน พ.ศ.2570
คอลลิน โก๊ะ ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพเรือ วิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษาเอส. ราชรัตนัมในสิงคโปร์ กล่าวว่าการซ้อมรบรอบไต้หวันเหล่านี้ทำให้กองบัญชาการภาคตะวันออกของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) ซึ่งเป็นหัวหอกในการซ้อมได้ทดสอบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากองทัพจีนไปไกลแค่ไหนจากวิกฤติช่องแคบไต้หวันในปี 2538-2539 โดยแสดงให้เห็นถึง “ความสามารถในการได้มาหรือควบคุมขีดความสามารถนานาที่ใหญ่ยิ่งขึ้นอย่างน้อยสินทรัพย์จับต้องได้ที่พวกเขานำมาใช้ รวมถึงความสามารถในการซ้อมรบระดับนี้ ชี้ให้เห็นว่า พวกเขามีสมรรถนะมากกว่าเมื่อทศวรรษ 1990 มากมายนัก” นักวิชาการรายนี้ให้ความเห็น
ความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ประชาชน 23 ล้านคนของไต้หวันใช้ชีวิตอยู่กับโอกาสถูกรุกรานมานานแล้ว แต่ภัยคุกคามเข้มข้นขึ้นภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้ปกครองจีนผู้แข็งกร้าวที่สุดในชั่วอายุคน
ตอนนี้จีนคว่ำบาตรผลไม้และปลาจากไต้หวัน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ เป็นความเคลื่อนไหวที่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายการสนับสนุนจากฐานเสียงสำคัญของรัฐบาลสนับสนุนเอกราชไต้หวัน
ปักกิ่งคว่ำบาตรบริษัทที่บริจาคเงินให้หน่วยงานช่วยเหลือด้านการพัฒนาของรัฐบาลไต้หวัน ยุติการทูตสมุดเช็กที่ไต้หวันมีให้กับพันธมิตร
แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า จีนยังคงมีเป้าหมายคงการเล่นงานทางเศรษฐกิจและการทหารไว้ไม่เกินเกณฑ์สงคราม เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงกับสหรัฐ
“ฉันคิดว่าความตึงเครียดไม่น่ายืดเยื้อ แต่แน่นอนวิกฤติใหญ่จะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า อัตราประกันภัย เส้นทางการค้า และซัพพลายเชนโลก” บอนนี เกลเซอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชีย จากเยอรมันมาร์แชลฟันด์ กลุ่มคลังสมองในสหรัฐกล่าว
นิวนอร์มอลสำหรับไต้หวัน
โก๊ะ กล่าวว่า ไต้หวันอาจชินกับการที่จีนซ้อมรบแบบนี้อีกในอนาคต
“มันจะกลายเป็นปทัสถานในการซ้อมรบใกล้เกาะหลักของไต้หวัน ครั้งนี้เป็นการกำหนดแบบอย่างใหม่ที่พีแอลเอจะซ้อมรบในรูปแบบนี้ การซ้อมรบในอนาคตมาตรฐานจะสูงขึ้นทั้งในแง่ขนาดและความเข้มข้น”
ในช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดจีนมักส่งเครื่องบินหรือเรือรบข้ามเส้นมัธยฐานมาเป็นระยะๆ อยู่แล้ว เส้นนี้ไม่เป็นทางการแต่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นพรมแดนกั้นกลางช่องแคบไต้หวัน แต่การเยือนของเพโลซี “ทำให้พวกเขามีข้อแก้ตัวหรือมีเหตุผลจะพูดว่า ในอนาคตพวกเขามีความชอบธรรมในการซ้อมรบทางตะวันออกของเส้นมัธยฐานโดยไม่ต้องคำนึงถึงมันอีกต่อไป” โก๊ะกล่าวเสริม
สัมพันธ์จีน-สหรัฐนับจากนี้
จีนประกาศยุติความร่วมมือกับสหรัฐในประเด็นสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกลาโหม รัฐบาลวอชิงตันประณามการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า “ไม่มีความรับผิดชอบโดยพื้นฐาน” ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจดิ่งเหวจากกรณีไต้หวัน
ปักกิ่งออกประกาศอีกฉบับคว่ำบาตรเพโลซีเป็นการส่วนตัวตอบโต้การกระทำยั่วยุและชั่วร้ายของเธอ ผู้มีความสำคัญเป็นอันดับสามถัดจากประธานาธิบดี
เทียน สีเจิ้น นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในปักกิ่ง กล่าวกับหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สของทางการจีนว่า การตัดการสื่อสารระหว่างกันยิ่งเพิ่มความเสี่ยงขัดแย้ง แต่เขากล่าวโทษสหรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว
“ตอนนี้ ช่องทางกลไกสื่อสารเกือบท้ังหมดระหว่างกองทัพจีนกับสหรัฐถูกยับยั้ง เพิ่มโอกาสการเข้าใจผิดและเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ทั้งหมดนี้เป็นความรับผิดชอบของสหรัฐ” โกลบอลไทม์สอ้างคำพูดนักวิเคราะห์
“นี่เป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนมาถึงจุดที่ตกต่ำมากจริงๆ ฉันหวังว่า รัฐบาลทั้งสองของเราจะหาทางเดินหน้าเจรจาถึงเส้นแบ่ง ความกังวล และป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์ตกต่ำต่อไปอีก” เกลเซอร์กล่าวในเวทีเสวนาจัดโดยศูนย์ยุทธ์ศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษาในกรุงวอชิงตัน