‘ศรีลังกาไม่สงบ’เสี่ยงชวดเงินกู้ไอเอ็มเอฟ

‘ศรีลังกาไม่สงบ’เสี่ยงชวดเงินกู้ไอเอ็มเอฟ

การเมืองในศรีลังกาที่ยังไม่สงบอย่างแท้จริง อาจเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าของรัฐบาลบริหารประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นตัวการขัดขวางการปล่อยกู้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ที่มีเป้าหมายต่อลมหายใจทางเศรษฐกิจแก่ประเทศนี้

"เดโบราห์ เบราติกัม" ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ กล่าวว่า ศรีลังกาจะต้องระงับความวุ่นวายในปัจจุบันให้ได้ ก่อนที่ไอเอ็มเอฟจะให้ความช่วยเหลือ

เบราติกัม กล่าวในรายการ Squawk Box Asia ของสถานีซีเอ็นบีซี ว่า “ไอเอ็มเอฟไม่สามารถดำเนินการใด ๆ กับรัฐบาลได้ในขณะที่สถานการณ์ยังคงอยู่ในวิกฤตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงยังไม่มีใครให้ไอเอ็มเอฟได้เจรจาคุยด้วย จนกว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพ และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” พร้อมทั้งระบุว่าไอเอ็มเอฟจำเป็นต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลศรีลังกาเพื่อที่จะสามารถจัดทำโครงการต่าง ๆ ได้

นอกจากนี้ เบราติกัม ยังมองว่า ไอเอ็มเอฟจะไม่ให้กู้ยืมเงินในสถานการณ์ที่เห็นว่า เงินที่ให้กู้ยืมจะไม่ได้รับการชำระคืน และเสริมว่าไอเอ็มเอฟต้องการการรับรองจากรัฐบาลว่า ระบบการคลังของประเทศเข้าที่เข้าทางเรียบร้อย โดยไอเอ็มเอฟจะพยายามทำให้แน่ใจว่ารายรับและรายจ่ายของรัฐบาลสอดคล้องกันเป็นอย่างดี
 

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ศรีลังกาได้รับผลกระทบจากการประท้วงมานานหลายเดือน และกำลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราช

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่แน่นอนยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจาก“รานิล วิกรมสิงเห” ประธานาธิบดีศรีลังกาคนล่าสุด ได้ส่งกองทหารเข้าไปในสถานที่ชุมนุมและทำลายเต็นท์และค่ายพักชั่วคราวเพียง 1 วันหลังจากที่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งปธน.

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ศรีลังกาได้รับผลกระทบจากการประท้วงมานานหลายเดือน และกำลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราช

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่แน่นอนยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากวิกรมสิงเห ได้ส่งกองทหารเข้าไปในสถานที่ชุมนุมและทำลายเต็นท์และค่ายพักชั่วคราวเพียง 1 วันหลังจากที่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งปธน.

วันเดียวกันนี้ ศูนย์การพัฒนาและการเงินเพื่อความยั่งยืน (Green Finance & Development Center) ของมหาวิทยาลัยฟูตัน ได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่ระบุว่า การลงทุนของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีนในรัสเซีย, ศรีลังกา และอียิปต์ ลดลงเหลือศูนย์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

 รายงานระบุว่า การสนับสนุนทางการเงินและการลงทุนของโครงการ BRI อยู่ที่ 2.84 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี ลดลงจากระดับ 2.94 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกันของปีแล้ว และลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ถึง 40%

 โครงการ BRI มีการลงทุนประมาณ 1.18 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีสัญญาก่อสร้างมูลค่า 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยบางส่วนได้รับการสนับสนุนจากการปล่อยกู้จากจีน ส่วนประเทศที่จีนลงทุนมากที่สุดคือซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ไม่มีโครงการเกี่ยวกับถ่านหินใด ๆ ได้รับเงินทุนจาก BRI ในช่วงครึ่งแรกของปี

 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า โครงการ BRI ตกเป็นเป้าการวิจารณ์มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยสหรัฐ กล่าวหาว่าโครงการดังกล่าวใช้การทูตแบบกับดักหนี้ เพื่อทำให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น ขณะที่จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว