โควิดช่วยญี่ปุ่นปฏิวัติเงียบ‘เวิร์กฟรอมโฮม’

โควิดช่วยญี่ปุ่นปฏิวัติเงียบ‘เวิร์กฟรอมโฮม’

การทำงานทางไกลเป็นเทรนด์ที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเมื่ออินเทอร์เน็ตก้าวหน้าไปมาก แต่การเปลี่ยนแปลงในญี่ปุ่นยังเป็นไปอย่างช้าๆ จนกระทั่งโควิด-19 ระบาดบีบให้ชาวญี่ปุ่นต้องทำงานทางไกลและสร้างการปฏิวัติอย่างไม่น่าเชื่อ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ตอนที่ถูกส่งไปรับตำแหน่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ ฮิตาชิ ห่างไกลจากบ้านเกิด คุณพ่อลูกสองอย่างสึโทมุ โคจิมะ รู้สึกเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวสุดๆ จนกระทั่งเขาเริ่มทำงานทางไกลเป็นครั้งแรกในช่วงโควิด-19 ระบาด

โควิด-19 พลิกผันการทำงานออฟฟิศทั่วโลก แต่ในญี่ปุ่น ประเทศที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนานใช้แฟ้มงานกระดาษตรายางส่วนตัวประทับด้วยน้ำหมึกและใช้เครื่องแฟกซ์มายาวนานจนกลายเป็นปทัสถาน หลายคนกล่าวว่า จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ 

ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา “โนมูระรีเสิร์ชอินสติติวท์” ในกรุงโตเกียว เผยว่าก่อนโควิดระบาดกำลังแรงงานญี่ปุ่นเพียง 9% เท่านั้นที่เคยทำงานทางไกล เทียบกับ 32% ในสหรัฐและ 22% ในเยอรมนี แต่การปฏิวัติเงียบในวัฒนธรรมธุรกิจอันเข้มงวดของญี่ปุ่นกำลังดำเนินไป บริษัทเริ่มเปลี่ยนปฏิบัติการเป็นระบบดิจิทัล เปิดให้พนักงานทำงานอย่างยืดหยุ่นมากขึ้นจากเดิมที่เคยคาดหวังให้พวกเขาอยู่จนดึกดื่น ออกไปดื่มกับเจ้านาย และยอมรับการส่งไปทำงานในที่ไกลๆ

โคจิมะเคยใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียวในที่พักที่ฮิตาชิจัดหาให้ใกล้กรุงโตเกียว ส่วนครอบครัวอยู่ที่นาโงยานั่งรถไฟหัวกระสุนใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง ตอนนั้นเขากลับบ้านเดือนละสองครั้ง แต่ตอนนี้ชายวัย 44 ทำงานจากบ้านอย่างเดียวเท่านั้น และว่าเขาได้ผลิตภาพมากขึ้น ทั้งยังได้ใกล้ชิดกับลูกสาววัยรุ่นมากขึ้นด้วย

“ผมมีเวลาช่วยสอนการบ้านลูกมากกว่าเดิม ลูกสาวคนเล็กบอกว่าอยากให้ชีวิตเป็นอย่างนี้ ผมเคยรู้สึกโดดเดี่ยวสุดๆ ในโตเกียว” โคจิมะกล่าว แต่นับจากนั้นเขาตระหนักว่า “ความสมดุลที่แท้จริงคือการไม่ทิ้งครอบครัว”

ศูนย์ผลิตภาพญี่ปุ่น เผยว่า ตอนโควิดระบาดระลอกแรกในฤดูใบไม้ผลิ ปี 2563 งานในญี่ปุ่นเกือบหนึ่งในสามเป็นการทำจากทางไกล แม้ว่ารัฐบาลไม่เคยออกคำสั่งเด็ดขาดให้ประชาชนอยู่กับบ้าน จากนั้นอัตราลดลงเหลือ 20% แต่ก็ยังสูงกว่ามากจากก่อนโควิด

เพื่อส่งเสริมการทำงานทางไกล รัฐบาลและบางบริษัทพยายามลดการใช้ตราประทับส่วนตัวที่ใช้เพื่อรับรองเอกสาร รวมถึงการใช้เครื่องแฟกซ์ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง

ฮิโรชิ โอโน ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิ ระบุ “บ่อยครั้งในญี่ปุ่นที่ธุรกิจต้องทำด้วยตนเอง บนกระดาษ” นิสัยที่ใช้กันมาตั้งแต่ทศวรรษ 70 และ 80 ตอนที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเฟื่องฟู

“สิ่งหนึ่งที่โควิดทำคือเอาอุปสรรคเหล่านั้นออก งานไม่ต้องทำในออฟฟิศอีกต่อไป คนเราสามารถทำงานที่บ้านได้” นักวิชาการกล่าวและว่า บริษัทกำลังตระหนักว่าวิธีการทำงานแบบใหม่มีประสิทธิภาพมากกว่า

“ก่อนโควิด ไม่สำคัญเลยสำหรับพนักงานที่จะแสดงให้เห็นว่าพวกเรากำลังทำงานหนัก ผลผลิตที่แท้จริงต่างหากเป็นตัวบ่งบอก”

 

สมดุลใหม่ เทรนด์ที่กำลังเติบโตในที่อื่นๆ คือ ประชาชนอยากหนีไปจากเมืองใหญ่ด้วยข้อมูลจากเทโกกุ ดาตาแบงก์ เผยว่าปีก่อนสำนักงานใหญ่ย้ายออกจากโตเกียวมากเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันพลเมืองโตเกียวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปี

หนึ่งในนั้นคือคาซุกิและชิซุกะ คิมุระ ที่หนีออกจากอพาร์ตเมนต์แออัดในกรุงโตเกียวไปปลูกบ้านใกล้ทะเล ทั้งคู่ทำงานด้านการสื่อสารและการตลาดส่วนใหญ่จากบ้านในฟุจิซาวะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองหลวง จากที่เคยพยายามทำงานจากบ้านในโตเกียว

“เป็นเพราะโควิดแท้ๆ เลยครับทำให้เราตัดสินใจแบบนี้” คาซุกิ คิมุระ กล่าว เขาเคยพยายามหาสถานที่ประชุม ทั้งที่บ้านพ่อแม่ ในคาเฟ กล่องทำงานทางไกลตั้งขึ้นตามสถานีรถไฟ และแม้แต่บูธคาราโอเกะก็เคยลองมาแล้ว

“บางครั้งคุณก็ได้ยินเสียงร้องเพลงมาจากบูธข้างๆ” จึงยากที่จะมีสมาธิ ชายวัย 33 ปีเล่าถึงอดีตการทำงานทางไกล ตอนนี้เขากำลังเรียนรู้การเล่นเซิร์ฟ

ด้านชิซุกะ คิมุระ วัย 29 ปีคิดว่า ตอนนี้ประชาชนจำนวนมากขึ้นๆ ให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมาก่อนงาน แต่คำถามคือ การเปลี่ยนแปลงในวงกว้างจะเกิดขึ้นได้เร็วแค่ไหน

ฮิโรมิ มุระตะ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันคัดสรรงานก็กังวลเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เขากล่าวว่า บริษัทเล็กๆ อาจปรับตัวรับการทำงานทางไกลได้ช้ากว่าบริษัทใหญ่อย่างฮิตาชิ, พานาโซนิค หรือยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมอย่างเอ็นทีที

การทำงานทางไกลอาจสร้างปัญหาในการอบรมพนักงานใหม่ด้วยเช่นกัน เพราะ “คุณต้องเรียนรู้จากงาน เมื่อก่อน การพบกันในออฟฟิศเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นแต่ละธุรกิจต้องหาสมดุลใหม่ ในแบบฉบับและเวลาของตนเอง”