ฝรั่งเศส-ไทยผนึกกำลังเสริมสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

ฝรั่งเศส-ไทยผนึกกำลังเสริมสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

ฝรั่งเศส-ไทยผนึกกำลังเสริมสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ แม้รัสเซียจะโจมตียูเครนจนทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน แต่ฝรั่งเศสและไทยยังคงมุ่งมั่นทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่ 14 ก.ค.ของทุกปี ตรงกับวันชาติของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ถือเป็นวาระอันดีอีกครั้งในการส่งเสริมคุณค่าเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ อันเป็นรากฐานของชาติฝรั่งเศสให้เป็นที่รับรู้ทั่วโลก และวันชาติฝรั่งเศสในปีนี้มีความหมายพิเศษ

การสิ้นสุดการระบาดของโรคโควิด-19 ในอีกไม่ช้าที่ทุกคนรอคอย บ่งบอกถึงการกลับคืนสู่เสรีภาพขั้นพื้นฐาน นั่นคือเสรีภาพในการเดินทางซึ่งมีความสำคัญต่อฝรั่งเศสและไทยในฐานะประเทศท่องเที่ยว ฝรั่งเศสเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลก 

ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 มีผู้ไปเยือนปีละมากกว่า 80 ล้านคน และในระยะหลังนี้ มีชาวไทยไปเยือนมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนักท่องเที่ยว นักศึกษา ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ และนักลงทุน จำนวนการขอวีซ่ากับสถานทูตฝรั่งเศส ที่กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจในช่วงที่ผ่านมา 

ส่วนชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีมากกว่า 800,000 คน ที่เคยมาเยือนไทยอันเป็นจุดหมายยอดนิยมในเอเชีย ก็พร้อมที่จะกลับมายังเมืองแห่งรอยยิ้มนี้อีกครั้ง 

 

ฝรั่งเศส-ไทยผนึกกำลังเสริมสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

นอกจากนี้ ไทย ยังเป็นประเทศที่มีชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่มากเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากจีน ฝรั่งเศส ต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบการหารือฝรั่งเศส-ไทยด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการคุ้มครองชนิดพันธุ์ ซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศกำลังเตรียมการ

ฝรั่งเศสใช้โอกาสในช่วงที่ผ่านมาเน้นย้ำความสำคัญของหลักความเสมอภาค โดยเฉพาะด้านการเข้าถึงวัคซีน ในเดือนพ.ย. ปี2563 ฝรั่งเศสได้ให้คำมั่นที่จะบริจาควัคซีน 120 ล้านโดสให้แก่ประเทศที่ต้องการ แม้ว่าวัคซีนที่ฝรั่งเศสบริจาคส่วนใหญ่จะส่งมอบผ่านโครงการโคแวกซ์ (COVAX) แต่วัคซีน 3.3 ล้านโดสที่ส่งมอบให้ไทยเป็นการบริจาคแบบทวิภาคี ถือเป็นการแสดงถึงหลักภราดรภาพอย่างเป็นรูปธรรม และมิตรภาพของสองประเทศ 

 

ฝรั่งเศส-ไทยผนึกกำลังเสริมสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

ไทยเป็นประเทศในเอเชีย ที่ฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์เก่าแก่ที่สุด

นอกจากนี้ ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของฝรั่งเศสที่จะกระชับความร่วมมือกับไทยตามเจตนารมณ์ของแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทย (ค.ศ. 2022 - 2024) ซึ่งได้ลงนามเมื่อวันที่ 22 ก.พ.  ณ กรุงปารีส โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่าย เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

 

การลงนามมีขึ้นในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก (Ministerial Forum for Cooperation in the Indo-Pacific) ในวาระที่ฝรั่งเศสเป็นประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและในวาระที่ไทยในฐานะสมาชิกสำคัญของอาเซียน เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค

แผนการฉบับนี้กำหนดให้สองประเทศมีการหารือในประเด็นระดับโลก อาทิ การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษพลาสติก การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพและมหาสมุทร การส่งเสริมแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) 

ไทยภาคภูมิใจในเอกราชและไม่ได้ดำเนินนโยบายในทางที่จะตกอยู่ในมือของมหาอำนาจ แนวคิดทางสายที่สาม (Third Way) ซึ่งฝรั่งเศสและสหภาพยุโรป (อียู) นำเสนอภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของทั้งคู่จึงสอดรับกับนโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจของไทย 

ยุทธศาสตร์ Global Gateway ของอียูจะพาชาวยุโรปมาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะด้านการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมระหว่างยุโรปกับเอเชีย และแม้ว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติอย่างร้ายแรงทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน แต่ฝรั่งเศสและไทยยังคงมุ่งมั่นทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ฝรั่งเศส-ไทยผนึกกำลังเสริมสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ฝรั่งเศสและไทยต่างมุ่งมั่นกระชับความร่วมมือในโครงการที่เป็นรูปธรรมทุกด้าน โดยได้ประชุมหารือร่วมกันหลายรูปแบบ อาทิ การหารือทางเศรษฐกิจของเจ้าหน้าที่ระดับสูง

การประชุมร่วมคณะกรรมการกลาโหม การหารือทวิภาคีทางการเมือง ได้ลงนามหรือเจรจาเอกสารสำคัญต่างๆ อาทิ ปฏิญญาแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในสาขาคมนาคมขนส่ง ความตกลงด้านการวิจัยและการอุดมศึกษา ปฏิญญาแสดงเจตจำนงด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและความตกลงด้านความร่วมมือด้านโรงพยาบาลซึ่งทั้งสองฉบับอยู่ระหว่างเตรียมการ 

ในเดือนมิ.ย. คณะผู้แทนระดับสูงภาคเอกชนฝรั่งเศสได้เลือกมาเยือนไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งแสดงถึงความสำคัญที่ภาคเอกชนฝรั่งเศสมีให้แก่ไทย

การกระชับความร่วมมือกับไทย หมายรวมถึงการส่งเสริมภาพลักษณ์ใหม่ของสองประเทศให้เป็นที่รับรู้ หากการท่องเที่ยว อาหาร และสินค้าหรูหรา คือสิ่งที่คนทั่วไปนึกถึงเมื่อพูดถึงฝรั่งเศสและไทย

การส่งเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีของสองประเทศก็สำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสาขาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) การบินและอวกาศ ซึ่งจะมีการพัฒนาความร่วมมือในการปล่อยดาวเทียม THEOS-2 ในปีหน้า สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เกษตรและอาหาร ตลอดจนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและสร้างสรรค์ 

ดังนั้น รัฐบาลทั้งสองประเทศจึงเห็นชอบกำหนดให้ปี 2566 เป็นปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมทั้งในไทยและฝรั่งเศส เพื่อแสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมของสองประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรม โดยมุ่งเป้าหมายที่เยาวชน

การกระชับความสัมพันธ์กับไทยคือภารกิจสำคัญของฝรั่งเศสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งมั่นทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมโครงการสำคัญต่างๆ รวมถึงด้านวัฒนธรรม อาทิ เทศกาลมรดกภาพยนตร์นานาชาติ MEMORY! ซึ่งปีนี้จะจัดในเดือนธ.ค. เพื่อเชิดชูมรดกภาพยนตร์โลก และแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทยนอกจากจะก้าวสู่อนาคตอย่างมุ่งมั่นแล้ว ยังฝังรากลึกในประวัติศาสตร์เช่นกัน