ปรากฏการณ์ 'การทูตไทย' รักษาดุลยภาพอำนาจ ‘สหรัฐ-จีน’

ปรากฏการณ์ 'การทูตไทย' รักษาดุลยภาพอำนาจ ‘สหรัฐ-จีน’

ผู้แทนมหาอำนาจโลกเดินทางเยือนประเทศไทยในสัปดาห์เดียวกัน เป็นปรากฏการณ์ทางการทูตไทยและไม่ใช่เรื่องบังเอิญ สะท้อนถึงไทย หนึ่งในประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังถูกสปอตไลท์ส่องที่มีความสำคัญเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐและจีน

เมื่อหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 4-5 ก.ค.หลังเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างครั้งที่ 7 ที่เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา ก็ได้บินต่อมายังไทยทันที

ห่างเพียง4 วันในสัปดาห์เดียวกันนี้ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 - 10 ก.ค. หลังจากเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี G20 ที่อินโดนีเซีย แล้วทั้งสองเหตุการณ์นี้ สะท้อนนัยสำคัญอย่างไร

ในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ มองได้ว่า สองมหาอำนาจมีความพยายามกระชับความสัมพันธ์ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย เพื่อยับยั้งการขยายอิทธิพลอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งหวัง และบลิงเคนเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของประเทศมหาอำนาจที่กำลังเสริมสร้างสายใยความสัมพันธ์ประเทศ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและความมั่นคง

เมื่อโลกแบ่งเป็นสองขั้ว โดยมีเอเชียและอาเซียนอยู่ตรงกลาง ทั้งยังเป็นหนึ่งเป้าหมายที่สหรัฐกับจีนกำลังมองหาพันธมิตร ซึ่งสหรัฐใช้นโยบาย “กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ส่วนจีนชูข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Innitative : BRI) แล้วไทยจะสร้างดุลยภาพระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างไร

 

ปรากฏการณ์ \'การทูตไทย\' รักษาดุลยภาพอำนาจ ‘สหรัฐ-จีน’

ในเรื่องนี้ แหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า นโยบายการต่างประเทศของไทยมีความชัดเจนและรู้เท่าทันบริบทโลกในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน ท่ามกลางสถานการณ์ภูมิภาคที่ร้อนแรงอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน

สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ซึ่งการเดินทางเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศจีนและรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ รวมถึงประเทศไทยอย่างต่อเนื่องกัน สะท้อนความสำคัญอย่างยิ่งและความสนใจของมหาอำนาจโลกที่โฟกัสมายังภูมิภาคนี้ 

ปรากฏการณ์ \'การทูตไทย\' รักษาดุลยภาพอำนาจ ‘สหรัฐ-จีน’

สิ่งนี้ได้ตอกย้ำให้ไทยต้องดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ต้องมองบริบทอย่างเข้าใจ และรู้เขารู้เรา รวมทั้งต้องตีโจทย์มหาอำนาจให้แตกและรอบด้านว่า ต้องการสานสัมพันธ์อย่างไร เพื่อคงไว้ซึ่งดุลยภาพระหว่างไทย-สหรัฐและไทย-จีน

ปัจจุบันการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของไทยได้สะท้อนให้เห็นในรายละเอียดของความร่วมมือที่มีต่อประเทศมหาอำนาจ เพราะไทยได้ตระหนักถึง “ผลประโยชน์ของประชาชน” เป็นสำคัญ

 

ปรากฏการณ์ \'การทูตไทย\' รักษาดุลยภาพอำนาจ ‘สหรัฐ-จีน’

ในการเยือนไทยของรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ได้ตอกย้ำโอกาสครบรอบ 10 ปีการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน และการครบรอบ 47 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนในปีนี้ โดยเห็นพ้องที่จะตั้งเป้าหมายในการพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไปในอนาคต ได้แก่ การหารือแนวทางเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น และการสร้างระเบียงการพัฒนาความเชื่อมโยงไทย - ลาว - จีนเพื่อเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์  ในการส่งเสริมค้าและการลงทุนรวมถึงการพัฒนาของอนุภูมิภาคในภาพรวม ตลอดจนการสนับสนุนการขนส่งสินค้าเกษตรของไทยไปยังจีนและต่อเนื่องไปถึงยุโรปได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ส่วนการเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ สะท้อนความสัมพันธ์2 ประเทศที่จะครบรอบ 190 ปีในปี 2566 ได้ลงนามเอกสาร 2 ฉบับคือ 1.แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา และ 2.บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานไทยและสหรัฐอเมริกา เน้นถึงผลประโยชน์ของไทยและสหรัฐที่ได้รับจากความร่วมมือเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของห่วงโซ่อุปทานลดการหยุดชะงักในการผลิตและโลจิสติกส์ ที่สำคัญทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศและตลาดทั่วโลกมั่นใจว่า สามารถเข้าถึงสินค้าที่สำคัญๆได้ ภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้ มุ่งมั่นจะยกระดับการแบ่งปันข้อมูล การปรึกษาหารือ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนผลประโยชน์ร่วมกัน และเสริมสร้างความมั่นคงของทั้งสองประเทศ

 

ปรากฏการณ์ \'การทูตไทย\' รักษาดุลยภาพอำนาจ ‘สหรัฐ-จีน’

“เรามองเป็นโอกาสของไทย ในการเพิ่มพูนความร่วมมือกับมหาอำนาจทั้งไทยกับสหรัฐ ในฐานะพันธมิตรเก่าแก่ ประเทศคู่ค้า และตลาดใหญ่ของไทย ขณะที่จีนก็เป็นประเทศที่มีความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน และการขนส่งที่สำคัญมากในปัจจุบัน” แหล่งข่าวระบุและย้ำว่า นโยบายของไทยต้องตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของชาติ พร้อมเปิดรับความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและไม่ต้องการเพิ่มประเด็นความขัดแย้งใดๆ 

กระทรวงการต่างประเทศ มองเป้าหมายเดียวคือ “การปกป้องและรักษาผลประโยชน์” ให้กับประเทศเป็นหลัก บนพื้นฐานการชื่นชมและสนับสนุนประเทศตนเองมาเป็นอันดับแรก และนี่ก็เป็นแนวทางการดำเนินนโยบายการต่างประเทศจากอดีตจนถึงปัจจุบัน