“รมว.ต่างประเทศสหรัฐ” เยือนไทย 9 -10 ก.ค. คนไทยได้ประโยชน์อะไร

“รมว.ต่างประเทศสหรัฐ” เยือนไทย 9 -10 ก.ค. คนไทยได้ประโยชน์อะไร

"แอนโทนี บลิงเคน" เดินทางมายังประเทศไทย สะท้อนถึงนัยสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงของสหรัฐที่มีต่อไทย แล้วประชาชนทั่วไป ภาคธุรกิจ จนถึงระดับรากหญ้าจะได้ประโยชน์จากตัวแทนมหาอำนาจเยือนไทยครั้งนี้อย่างไร

นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์  อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ จะเดินทางเยือนประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 9 - 10 ก.ค.2565 ถือเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ

นายบลิงเคน จะถึงประเทศไทยในช่วงค่ำวันนี้ และวันรุ่งขึ้นจะมีกำหนดการเต็มวัน โดยก่อนหน้านี้ นายบลิงเคนมีความตั้งใจจะเยือนไทยอยู่ก่อนแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.2564 แต่ด้วยผู้สื่อข่าวที่ร่วมคณะติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ต้องพับแผนการเดินทางและเลื่อนการเยือนออกไป

*เครดิต "ปราบปรามค้ามนุษย์ไทย" เพิ่มขึ้น

นายเชษฐพันธ์กล่าวอีกว่า รมว.บลิงเคน มีแผนเข้าพบปะหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตามด้วยการเข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากนั้นจะเยี่ยมสถานคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งทั้งไทยและสหรัฐให้ความสำคัญกับการค้ามนุษย์เหมือนกัน อีกทั้งยังร่วมมือปราบปรามการค้ามนุษย์ใกล้ชิดมาโดยตลอด และ "นี่จะเป็นสัญญาณหนึ่งที่จะมีข่าวดีร่วมกันเร็วๆนี้" 

ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวเผยถึงความเป็นไปได้ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐจัดอันดับรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in PersonsReport : TIP report) ประจำปี 2565 จะปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ tier 2 watchlist เป็น tier 2 

**เปิดความสำคัญลงนามเอกสาร 2 ฉบับ

นายเชษฐพันธ์ กล่าวว่า สำหรับการเยือนครั้งนี้ ถือเป็นโอากาสที่ดีที่นายดอนและนายบลิงเคน จะหารือถึงความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ โดยรัฐมนตรีทั้งสองจะมีการลงนามเอกสาร 2 ฉบับคือ 

1. แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (Thailand - Us communique on strategy alliance and partnership) นี่เป็นฉบับที่สอง สะท้อนความสัมพันธ์ 2 ประเทศที่จะครบรอบ 190 ปีในปี 2566

เดิมเรามีเอกสาร communique ฉบับแรกเมื่อ 60 ปีที่แล้ว สิ่งนี้สะท้อนความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์และพลวัตรขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ที่คำนึงถึงบริบทและความท้าทายในปัจจุบัน เน้นการมองไปข้างหน้าและลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานทดแทนต่างๆ ไซเบอร์ซิคิวรีตี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือด้านสาธารณสุข และความร่วมมือประชาชนกับประชาชน 

*** "สหรัฐ" เสริมศักยภาพห่วงโซ่อันทรงคุณค่าการผลิตไทย

2.บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมห่วงโซ่อันทรงคุณค่าไทยและสหรัฐอเมริกา (MOU on supply chain) ในด้านการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในภาคธุรกิจสำคัญของ 2 ประเทศ รวมทั้งการเกษตร พลังงานและการค้า จะทำให้ไทยเป็น “ข้อต่อหนึ่งที่สำคัญ” ในการเป็นห่วงโซ่ทรงคุณค่าให้กับกระบวนการผลิตของสหรัฐ และยังเป็นโอกาสทางธุรกิจของไทย ในด้านการส่งออก นำเข้าและการลงทุน 

“ฝ่ายสหรัฐมองหาหนทางจะทำอย่างไร ที่จะพัฒนาขีดความสามารถให้เอกชนไทยได้ร่วมมือกับเอกชนสหรัฐมากยิ่งขึ้น ในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อันทรงคุณค่าด้านการผลิตให้มีความโดดเด่นระดับภูมิภาค” นายเชษฐพันธ์ระบุ และกล่าวว่า นี่จะเป็นโอกาสให้กับประชาชนไทย ด้านแรงงาน เทคโนโลยีและภาคการผลิตของไทยที่จะเป็นประโยชน์ให้กับคนไทยในทุกระดับ ไม่เฉพาะภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการผลิตในการเกษตรอีกด้วย 

**** "บลิงเคน" ตั้งใจเยือนประเทศไทย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเยือนครั้งนี้ นายบลิงเคนใช้โอกาสที่เดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ G20 ที่บาหลี อินโดนีเซีย และหลังการประชุมได้ตั้งใจเยือนประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ถึงแม้เป็นวันอาทิตย์และเดิมต้องอยู่ต่อถึงวันจันทร์ (11 ก.ค.) แต่ด้วยนายบลิงเคนต้องกลับประเทศ เพราะภารกิจร่วมคณะประธานาธิบดีโจ ไบเดนไปยังภูมิภาคอื่น จึงจำเป็นต้องตัดกำหนดการเยือนบางประเทศ (เวียดนาม) ออกไป และยังคงประเทศไทยไว้