ย้อน นโยบาย ‘อาเบะโนมิกส์’ ฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ย้อน นโยบาย ‘อาเบะโนมิกส์’ ฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น

อาเบะโนมิกส์ เป็นยุทธศาสตร์หลักทางเศรษฐกิจของ อดีตนายกฯ ญี่ปุ่น ‘ชินโซ อาเบะ’ โดยมุ่งเน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซาของญี่ปุ่นมากกว่า 10 ปี ด้วยกลยุทธ์ 3 ลูกศร ได้แก่ การผ่อนคลายทางการเงินขนานใหญ่, การใช้จ่ายของภาครัฐ และการปฏิรูประบบการทำงาน

อาเบะโนมิกส์ เป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอาเบะ ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 โดยมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจญี่ปุ่น ด้วยมาตรการ ‘ศร 3 ดอก’ คือ นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และยุทธศาสตร์การเติบโต เพื่อส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนที่ซบเซามานาน โดยศร 3 ดอกมีดังนี้

นโยบายการเงิน ช่วยแก้ไขปัญหาเงินฝืดโดยธนาคารกลางเพิ่มปริมาณเงินเข้าระบบเศรษฐกิจจำนวนมากผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลคืน เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว และให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 2% ทำให้รัฐบาลถือสินทรัพย์มากที่สุดในโลกร้อยละ 70 ของ GDP เมื่อเทียบกับสหรัฐ และสหภาพยุโรป

นโยบายการคลัง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยตั้งวงเงินไว้ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เช่น อุโมงค์ สะพาน และถนนที่ทนทานต่อแผ่นดินไหว

ส่วนยุทธศาสตร์การเติบโต มุ่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ 

ด้วยการลดภาษีบริษัท เปิดเสรีภาคเกษตร ปฏิรูปกฎระเบียบเกี่ยวกับพลังงาน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ปรับปรุงวิธีการลงทุนของรัฐบาล สนับสนุนนวัตกรรมใหม่ในเชิงดิจิทัล และสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตร สร้างแรงจูงใจทางภาษีเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานของสตรี สร้างสังคมที่ยอมรับ และส่งเสริมสถานะของสตรีในสถานที่ทำงาน เพื่อเพิ่มแรงงานวัยทำงานให้สังคม โดยที่สตรีไม่จำเป็นต้องออกจากงานเพื่อไปทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกหลานของตนเองอีกต่อไป

3 ปีให้หลัง จากการประกาศใช้นโยบาย รัฐบาลอาเบะ ได้ประเมินแล้วว่า สามารถแก้ไขปัญหาเงินฝืดได้ เพิ่มรายได้ประชาชาติ บริษัทเอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จำนวนคนว่างงานลดลง ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นในบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม บรรลุเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลกลาง และท้องถิ่น บรรลุข้อตกลงในการเจรจา TPP ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นกว่า 19 ล้านคนในปี 2558 ซึ่งมากกว่าปี 2555 ที่มีนักท่องเที่ยวประมาณ 8 ล้านคน อีกทั้งยังเพิ่มการจ้างงานสตรีมากขึ้นด้วย

แต่หลายฝ่ายกลับมองว่านโยบายนี้ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก จุดอ่อนของนโยบายคือ รัฐบาลก่อหนี้สินเพิ่มจำนวนมาก ในช่วงแรกที่ดำเนินนโยบายสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปอัตราเงินเฟ้อยังต่ำ ไม่เป็นไปตามเป้า และยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเอกชนที่กังวลเรื่องหนี้เสียได้ อีกทั้งกังวลว่าหนี้สินรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น อาจจำเป็นต้องเก็บภาษีเพิ่มในอนาคตเพื่อใช้หนี้ต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนไม่พอใจนัก

และเอกชนยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับการแก้ไขเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากมีปัญหาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้าหลัง รวมถึงอาจารย์ และนักวิจัยไม่เปิดกว้างเรียนรู้ และวิจัยวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ให้เท่าทันโลก

การลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานไม่ค่อยให้ผลตอบแทนกลับคืนมา กลับเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจากการซื้อสินทรัพย์ และพันธบัตร ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อน แม้มีผลดีกับธุรกิจภาคส่งออก แต่ผู้ผลิตย้ายฐานผลิตไปต่างประเทศแล้ว ขณะเดียวกันสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น กระทบต่อภาคครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จากเงินเยนอ่อนค่าทำให้บริษัทยังคงไม่มีกำไรมากพอที่จะขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน และแม้ว่าเงินเดือนขึ้นแต่สินค้าอุปโภคบริโภคก็ขึ้นตามด้วย

นอกจากนี้อาเบะโนมิกส์ยังส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานหลายคน จากการผ่อนคลายกฎระเบียบการจ้างงาน  วัฒนธรรมการจ้างญี่ปุ่นแบบจ้างงานตลอดชีพเริ่มหมดไป ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีความไม่มั่นคงในการทำงาน บริษัทได้เปรียบเพราะไม่ต้องรับภาระจ่ายสวัสดิการ และสามารถเปลี่ยนบุคลากรได้ตลอด หรือกล่าวได้ว่า นโยบายอาเบะโนมิกส์เน้นช่วยให้ภาคธุรกิจเอกชนเติบโต แต่ละเลยผู้ใช้แรงงาน เพราะอัตราค่าแรงเพิ่มไม่ทันอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากนโยบายการเงิน

ทั้งนี้อาเบะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 57 ของญี่ปุ่น เป็นหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ แอลดีพี ตั้งแต่ปี 2555-2563 ถือเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ครองตำแหน่งนานที่สุดในประวัติศาสตร์

ปัจจุบัน ฟูมิโอะ คิชิดะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้คำมั่นว่าจะใช้ระบบทุนนิยมใหม่กับประเทศญี่ปุ่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มรายได้ให้ชนชั้นกลาง ในขณะเดียวกันยังคงใช้นโยบาย ‘อาเบะโนมิกส์’ ในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังและการเงิน โดยยังคงอัตราภาษีการบริโภคและนโยบายเงินเฟ้อเป้าหมายที่ร้อยละ 2 

ด้านอดีตนายกฯ อาเบะ ได้ย้ำนายกฯ ญี่ปุ่น คนปัจจุบันให้ใช้นโยบาย ‘อาเบะโนมิกส์’ แบบผสมผสาน สร้างความมั่นใจให้ตลาดการเงิน และเพื่อดำเนินความต่อเนื่องของโครงการต่างๆ ที่ต่อจากรัฐบาลอาเบะอีกด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์