"ศรีลังกา" ระส่ำ เตือนน้ำมันกำลังหมดประเทศ

"ศรีลังกา" ระส่ำ เตือนน้ำมันกำลังหมดประเทศ

"รัฐมนตรีพลังงานศรีลังกา" เตือนประชาชน เผชิญวิกฤติน้ำมันกำลังจะหมดไปจากประเทศ เหตุภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในรอบกว่า 70 ปี

กันชนะ วิเยสเกรา รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานศรีลังกา ระบุในวันอังคาร(5 ก.ค.) ว่า ประเทศกำลังเผชิญปัญหาปริมาณน้ำมันที่เหลืออยู่น้อยกว่าความต้องการใช้ในประเทศ โดยการขนส่งน้ำมันรอบถัดไปจะมาช้ากว่า 2 สัปดาห์ข้างหน้า

ศรีลังการะงับการขายน้ำมันเบนซิน และดีเซลสำหรับยานพาหนะที่ไม่จำเป็นในสัปดาห์ที่แล้ว เพราะจำกัดไว้ให้กลุ่มที่จำเป็นๆ เท่านั้น เช่น รถขนส่งอาหาร และเวชภัณฑ์

วิเยสเกรา กล่าวว่า ขณะนี้มีน้ำมันสำรองดีเซลเพียง 12.7 ล้านลิตร และน้ำมันเบนซิน 4.06 ล้านลิตร ส่วนน้ำมันล็อตใหม่คาดว่าจะมาในช่วงวันที่ 22 และ 23 กรกฎาคม นี้

การขนส่งน้ำมันดีเซลคาดว่าจะมาถึงในสุดสัปดาห์ อย่างไรก็ตามวิเยสเกราเตือนว่า ขณะนี้ศรีลังกาเหลือเงินไม่เพียงพอสำหรับการซื้อเชื้อเพลิงนำเข้าจากประเทศ

ธนาคารกลางศรีลังกาไม่สามารถอุดหนุนการซื้อเชื้อเพลิงมูลค่า 125 ล้านดอลลาร์ได้ จำนวนเงินน้อยกว่า 587 ล้านดอลลาร์ ต้องใช้จ่ายสำหรับขนส่งที่กำหนด

วิเยสเกรา ระบุอีกว่า ประเทศเป็นหนี้ 800 ล้านดอลลาร์กับคู่ค้า 7 ราย ที่ทำการซื้อขายเมื่อต้นปี 2565

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ศรีลังกาเป็นประเทศแรกที่หยุดจำหน่ายน้ำมันให้กับประชาชนทั่วไป นับตั้งแต่ช่วงวิกฤติน้ำมันปี 2513 

ศรีลังกาเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่หลังจากได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2491 เนื่องจากขาดเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระสินค้านำเข้าที่จำเป็น ภาวะขาดแคลนน้ำมัน อาหาร และยาเฉียบพลัน ทำให้ราคาค่าครองชีพสูงขึ้นที่ทำลายสถิติของประเทศ และยังเกิดการประท้วงรุนแรงบนถนนอีกด้วย

รัฐบาลศรีลังกา กล่าวโทษสถานการณ์ถดถอยในประเทศมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเงินหมุนเวียนต่างประเทศมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ต้องโทษการจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดเสียมากกว่า

ถนนในเมืองหลวงที่เคยคึกคักกลับเงียบเหงามากในตอนนี้ และเมืองโคลอมโบให้ความรู้สึกเหมือนโดนล็อกดาวน์ จากการที่น้ำมันขาดตลาดทำให้ประชาชนต้องอยู่บ้านเท่าที่ทำได้ ส่วนปั๊มน้ำมันจะพบเห็นแต่คนต่อแถวยาวเหยียด ต้องมีทหารคอยควบคุม และตระเวนอยู่ด้านหน้า ตอนนี้น้ำมันกลายเป็นของล้ำค่ามากกว่าทองไปแล้ว

เอซิส คนขับรถตู้ในศรีลังกา กล่าวว่า “พวกเราทุกข์ใจมาก เราไม่ได้ทานข้าวเช้าหรือกลางวันเลย มีเพียงแค่น้ำดื่มเพื่อยืนรอซื้อน้ำมัน”

ภาวะขาดแคลนน้ำมันมักมาคู่กับการขาดแคลนอาหาร ซึ่งอาหารราคาเฟ้อสูงถึง 80% ทั้งเดือนมิถุนายน ประชาชนหลายคนกำลังจะอดอาหาร

ด้านยูนิเซฟ ระบุว่า ประชาชนกว่า 2 ใน 3 ของประเทศได้รับอาหารลดลงนับตั้งแต่ต้นปีแล้ว

โฆษกศรีลังกา กล่าวว่า ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่นคงได้เกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรมในเดือนหน้า

อิเดีย อาชนะ ชุลกะ ผู้สื่อข่าวธุรกิจของ BBC กล่าวว่า สถานการณ์ศรีลังกายังผันผวน แต่ก็ใกล้จะควบคุมได้แล้ว ซึ่งอุตสาหกรรมส่งออก เช่น สิ่งทอและเสื้อผ้า ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล เนื่องจากเศรษฐกิจต้องการเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรยังต้องใช้เชื้อเพลิง ขณะที่ระบบขนส่งสินค้าที่จำเป็นต้องใช้เหมือนกัน แต่ตอนนี้เชื้อเพลิงกำลังจะหมดเช่นกัน ขณะที่อุตสาหกรรมไอทีที่กำลังพัฒนาได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากถูกตัดไฟ และอินเทอร์เน็ตขัดข้อง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิด ภาวะสมองไหล ด้วยความกลัวว่าจะสูญเสียคนเก่งที่อายุยังน้อยจำนวนมาก

พฤหัสที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สรุปการประชุมล่าสุดกับศรีลังกา ว่าจะช่วยเหลือด้วยจำนวนเงินกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.5 พันล้านยูโร)

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงเพื่อให้ความช่วยเหลือดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป โดยทาง IMF แถลงว่า ข้อตกลงนี้จะช่วยศรีลังกาสามารถกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค 

ในแถลงการณ์เพิ่มเติมว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้เห็นความทุกข์ยากที่ชาวศรีลังกากำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะคนจน และผู้เปราะบางจากวิกฤติครั้งนี้ ทั้งนี้ IMF ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ อย่างรัสเซีย และกาตาร์เพื่อพยายามหาแหล่งน้ำมันราคาถูกมาทดแทน

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์