ดาวโจนส์บวกในกรอบแคบ 82จุดหลังเฟดแสดงความมุ่งมั่นสกัดเงินเฟ้อ

ดาวโจนส์บวกในกรอบแคบ 82จุดหลังเฟดแสดงความมุ่งมั่นสกัดเงินเฟ้อ

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(29มิ.ย.)ปรับตัวขึ้นในกรอบแคบ 82 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นวอลสตรีทส่อทำผลงานช่วงครึ่งปีแรกของปี2565 เลวร้ายที่สุด และประธานเฟดแสดงความมุ่งมั่นสกัดเงินเฟ้อ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 82.32 จุด หรือ 0.27% ปิดที่ 31,029.31 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 2.72 จุด หรือ 0.07%  ปิดที่ 3,818.83 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 3.65 จุด หรือ 0.03%  ปิดที่ 11,177.89 จุด

ทั้งนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)กล่าวยืนยันว่า เฟดมีความมุ่งมั่นในการสกัดเงินเฟ้อ แม้การใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินจะชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็จะไม่สร้างความเสี่ยงที่รุนแรง

"เรามีความมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่เรามีเพื่อทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลง ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็คือการลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยง แต่ผมก็มองว่านี่ไม่ใช่ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจ โดยความผิดพลาดมากกว่าที่อาจเกิดขึ้นก็คือความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา" นายพาวเวลกล่าวในการประชุมประจำปีของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่จัดขึ้นที่โปรตุเกสในวันนี้

"เราจะป้องกันไม่ให้ภาวะเงินเฟ้อต่ำกลายเป็นภาวะเงินเฟ้อสูง โดยในระยะสั้น เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งเพื่อสกัดราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เฟดจะต้องสกัดคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวเพื่อไม่ให้การคาดการณ์ดังกล่าวฝังแน่นในความคิดของผู้บริโภคจนกลายเป็นปัจจัยผลักดันให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นจริงตามคาด" นายพาวเวล กล่าว

ทั้งนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะ 5.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยสูงกว่าระดับ 4.2% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 3.1% โดยสูงกว่าระดับ 2.8% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

นอกจากนี้ นักลงทุนยังผิดหวังต่อการเปิดเผยตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 1/65

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 1/65 ในวันนี้ โดยระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% จากเดิมที่รายงานว่าหดตัวเพียง 1.4% และ 1.5% ในตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ตามลำดับ

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.5% ในไตรมาส 1/65

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 1/65 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยในช่วงต้นปี 2563 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

หากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวต่อไปในไตรมาส 2/65 ก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

เมื่อพิจารณาในปี 2564 เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต 6.3% ในไตรมาส 1 และ 6.7% ในไตรมาส 2 ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ 2.3% ในไตรมาส 3 เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิต ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่เศรษฐกิจสหรัฐกลับมามีการขยายตัว 6.9% ในไตรมาส 4