จับตาเศรษฐกิจ3 ชาติเหยื่อพิษศก.-เงินเฟ้อพุ่ง

จับตาเศรษฐกิจ3 ชาติเหยื่อพิษศก.-เงินเฟ้อพุ่ง

จับตาเศรษฐกิจ3 ชาติเหยื่อพิษศก.-เงินเฟ้อพุ่ง โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนพ.ค.ของศรีลังกาเพิ่มขึ้นเป็น 45.3% จากปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นจาก 33.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

วิกฤติขาดแคลนเชื้อเพลิงในศรีลังกาที่เลวร้ายหนัก ถึงขั้นหยุดขายน้ำมันให้ยานพาหนะของเอกชนที่ไม่มีความจำเป็น และจะขายให้เฉพาะรถโดยสาร รถไฟ และพาหนะอื่น ๆ ที่ใช้ในงานบริการทางการแพทย์และขนส่งอาหารเท่านั้นเป็นเวลาสองสัปดาห์

ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าประเทศนี้จะมีชะตากรรมแบบเดียวกับอาร์เจนตินา หรือเวเนซุเอลาหรือไม่ และหากมีชะตากรรมเหมือนกัน วิกฤตินี้จะลุกลามและรุนแรงเกินรับมือหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อทุกประเทศกำลังเจอปัญหาเงินเฟ้อเหมือนๆกัน

ศรีลังกาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก เมื่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศพุ่งแรงอย่างรวดเร็วในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558  เนื่องจากต้นทุนอาหารและการขนส่งที่สูงขึ้น ทำให้ศรีลังกาต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี

ข้อมูลจากรีฟินิทีฟ และเฟิร์สต์ แคปิตัล รีเสิร์ช ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนพ.ค.ของศรีลังกาเพิ่มขึ้นเป็น 45.3% จากปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นจาก 33.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 2558

นอกจากนี้ การที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชน 22 ล้านคนต้องประสบกับความยากลำบากในการจ่ายเงินสำหรับการนำเข้าอาหาร เชื้อเพลิง และยาที่จำเป็น ประกอบกับวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ท่ามกลางการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศ การขาดแคลนในประเทศ และราคาเชื้อเพลิงโลกที่พุ่งสูง
 

รายงานระบุว่า ราคาอาหารของศรีลังกาในเดือนพ.ค.พุ่งขึ้น 58% จากปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 45.1% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. ขณะที่ค่าขนส่งพุ่งขึ้น 76.7% จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 52.5% หลังจากที่รัฐบาลขึ้นราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลเมื่อเดือนที่แล้ว

นักวิเคราะห์ มีความเห็นว่า เงินเฟ้อของศรีลังกาจะยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงที่เหลือของปีนี้ และธนาคารกลางของศรีลังกามีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการทบทวนนโยบายในเดือนก.ค.ที่จะถึง

แม้รัฐบาลศรีลังกาจะอ้างว่า การขาดแคลนรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 คือสาเหตุที่ทำให้ประเทศขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ แต่ประชาชนกลับมองว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นผลมาจากการการบริหารประเทศที่ผิดพลาด และการทำงานแบบระบบเครือญาติของพี่น้องตระกูลราชปักษาคือ ประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษา และนายกรัฐมนตรีมหินทา ราชปักษา ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากเผชิญกระแสกดดันอย่างหนักจากประชาชน

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายหวังว่าสถานการณ์ความตึงเครียดของศรีลังกาจะคลี่คลาย เมื่อคณะผู้แทน 9 คนจากไอเอ็มเอฟเดินทางถึงศรีลังกาในสัปดาห์นี้ เพื่อเจรจาเรื่องแพ็กเกจเงินช่วยเหลือ โดยรัฐบาลศรีลังกาหวังที่จะกู้ยืมเงินประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์จากไอเอ็มเอฟและบรรลุข้อตกลงทั้งหมดภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้

ส่วนเศรษฐกิจของปากีสถานก็มีปัญหาไม่แพ้กัน ล่าสุด รัฐบาลปากีสถานภายใต้การนำของ"นายกรัฐมนตรีเชบาซ ชารีฟ" เตรียม

เรียกเก็บ “Super Tax” ในหลายอุตสาหกรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างมากในขณะนี้ให้ผงกหัวขึ้น

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ว่า ปากีสถานเสนอให้เรียกเก็บ “Super Tax” ในอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น ซีเมนต์ เครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ เหล็ก และยาสูบ เพื่อเพิ่มรายได้ของประเทศ ขณะที่ประเทศในเอเชียใต้แห่งนี้กำลังเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อขอเงินช่วยเหลือ

จนถึงขณะนี้ ทางการปากีสถานได้ขึ้นราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ภาษี และได้เปิดเผยมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของผู้ขอกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ  ซึ่งเงินทุนจากไอเอ็มเอฟจะช่วยป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งยังปูทางสำหรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากสถาบันพหุภาคีอื่นๆ และประเทศที่เป็นมิตร 

ปากีสถานต้องการเงินอย่างน้อย 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในอีก 12 เดือนข้างหน้ าเพื่อชำระหนี้และนำเข้ากองทุน หลังจากเศรษฐกิจและฐานะการเงินของประเทศแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นและการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น                                

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของปากีสถานลดลงต่ำกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเพียงพอสำหรับการนำเข้าน้อยกว่า 2 เดือน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ค.ก็เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ขณะที่ค่าเงินก็ลดลงประมาณ 17% ในปีนี้

นักเศรษฐศาสตร์จากซิตี้กรุ๊ป อิงค์  กล่าวเมื่อต้นเดือนนี้ว่า แผนการของปากีสถานในการลดการขาดดุลด้วยการลดการใช้จ่ายอาจไม่เพียงพอที่จะโน้มน้าวให้ไอเอ็มเอฟกลับมาปล่อยกู้ได้

ส่วนตุรกี ก็เจอปัญหาเศรษฐกิจระดับวิกฤติจนฉุดให้ค่าเงินลีราดิ่งแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยเมื่อเวลา 18.10 น.ตามเวลาไทยของวันที่ 9 พ.ค. ค่าเงินลีราของตุรกีร่วงลงสู่ระดับ 15.03 เทียบดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยค่าเงินลีราทรุดตัวลงเกือบ 60% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่ปี 2564

ทั้งนี้ ธนาคารกลางตุรกีได้เข้าแทรกแซงตลาดในช่วงเช้าวันนี้ แต่ก็ไม่สามารถสกัดการอ่อนค่าของลีรา

สำนักงานสถิติแห่งชาติตุรกี เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 69.97% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีและเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ดีดตัว 7.25% ในเดือนเม.ย.

การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือนเม.ย.ได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวของราคาอาหารและค่าใช้จ่ายในภาคขนส่ง ประกอบกับสำนักงานสถิติของตุรกีเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต พุ่งขึ้น 121.82% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี และดีดตัว 7.67% เมื่อเทียบรายเดือน