ดาวโจนส์ปรับตัวลงในกรอบแคบ 62 จุด วอลล์สตรีทพักฐาน หลังพุ่งสัปดาห์ที่แล้ว

ดาวโจนส์ปรับตัวลงในกรอบแคบ 62 จุด วอลล์สตรีทพักฐาน หลังพุ่งสัปดาห์ที่แล้ว

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์ (27มิ.ย.)ปรับตัวลงในกรอบแคบ 62 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพักฐาน หลังจากพุ่งขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 62.42 จุด หรือ 0.20% ปิดที่ 31,438.26 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 11.63 จุด หรือ 0.30% ปิดที่ 3,900.11 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 83.07 จุด หรือ 0.72%  ปิดที่ 11,524.55 จุด

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 5.4% ในสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากร่วงลงติดต่อกัน 3 สัปดาห์ ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทะยานขึ้น 6.4% และดัชนีแนสแด็ก ดีดตัวขึ้น 7.5%

นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดิ่งลงในสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะแตะระดับสูงสุดที่ 3.5% ในเดือนมี.ค.2566 ซึ่งลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 4%

นักลงทุนขานรับการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะ 5.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ซึ่งแม้สูงกว่าระดับ 4.2% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ต่ำกว่าระดับ 5.4% ซึ่งเป็นตัวเลขเบื้องต้นที่มีการสำรวจเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว

ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.1% แม้ว่าสูงกว่าระดับ 2.8% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ต่ำกว่าระดับ 3.3% ซึ่งเป็นตัวเลขเบื้องต้นที่มีการสำรวจเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว และอยู่ในช่วง 2.9-3.1% ที่มีการสำรวจในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา

นักลงทุนจับตาตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 1/65 ของสหรัฐในวันพุธ หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.5% จากเดิมรายงานว่าหดตัวเพียง 1.4% ในตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.3%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 1/65 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยในช่วงต้นปี 2563 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

หากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวต่อไปในไตรมาส 2/65 ก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. เฟดได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 1.7% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.8% ในเดือนมี.ค.

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนพ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย.

ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนพ.ค.ได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อรถยนต์

ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ค. โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย.