'พลังงานจากถ่านหิน'ตัวการฉุดแผนลดปล่อยคาร์บอนอียู

'พลังงานจากถ่านหิน'ตัวการฉุดแผนลดปล่อยคาร์บอนอียู

'พลังงานจากถ่านหิน'ตัวการฉุดแผนลดปล่อยคาร์บอนอียู โดยประธานอีซีระบุว่า "เราจำเป็นต้องทำให้แน่ใจว่าใช้วิกฤตนี้เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่ถอยหลังกลับสู่เชื้อเพลิงฟอสซิลสกปรก"

'ก๊าซพรอม' รัฐวิสาหกิจพลังานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ลดปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ป้อนผ่านท่อลำเลียงนอร์ดสตรีมไปยังหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งเยอรมนี ทำให้ต้องหันไปพึ่งพาพลังงานจากถ่านหิน จนประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเตือนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการก้าวถอยหลังของอียู ที่ตั้งธงไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ให้เหลือศูนย์ภายในปี 2593

บรัสเซลส์และบรรดาเอ็นจีโอทั้งหลาย แสดงความวิตกกังวลอย่างมากหลังจากหลายประเทศในอียู กำลังหันกลับไปใช้ถ่านหินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติ เพราะผลพวงจากสงครามของรัสเซียในยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปทานด้านพลังงาน

“เราจำเป็นต้องทำให้แน่ใจว่าใช้วิกฤตนี้เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่ถอยหลังกลับสู่เชื้อเพลิงฟอสซิลสกปรก เพราะเรื่องนี้เป็นเพียงเส้นบางๆ และไม่ใช่ข้อสรุปว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่" เออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี)กล่าวเมื่อวันอังคาร (21 มิ.ย.)

 ทั้งนี้ ยุโรป มีความต้องการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียปริมาณมาก และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นการบ่อนทำลายร้ายแรงต่อความทะเยอทะยานของอียูในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ และเป้าหมายนี้เป็นหนึ่งในเสาหลักนโยบายต่างๆ ของ ฟอน แดร์ ไลเอิน ระหว่างที่เธอดำรงตำแหน่งประธานอีซี

เยอรมนี ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์ ประกาศชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาว่าจะผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ที่กำหนดกับโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินทั้งหลาย หลังจากบริษัทก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจพลังานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ระบุว่าจะปรับลดปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ป้อนผ่านท่อลำเลียงนอร์ดสตรีมไปยังเยอรมนี

“โรเบิร์ต ฮาเบค” รองนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจและการจัดการสภาพอากาศ แถลงการ ตัดสินใจครั้งสำคัญยอมกลับไปพึ่งพลังงานจากถ่านหิน แหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นต้นตอของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งที่ตัวเขาเองเป็นหัวหน้าพรรคกรีนส์ (Alliance 90/The Greens) ที่ชูนโยบายสนับสนุนโครงการปรับเปลี่ยนเยอรมนี ให้เป็นประเทศปลอดคาร์บอนไดออกไซด์

ฮาเบค ให้เหตุผลที่จำต้องกลืนน้ำลายตัวเองว่า ประเทศต้องลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียอย่างจริงจังเสียที หลังจากก๊าซพรอมลดการส่งมอบก๊าซผ่านท่อส่งก๊าซใต้ทะเล “นอร์ดสตรีม 1” ให้เยอรมนี ที่ตอนแรกบอกว่าจะลดวันละ 40% แต่วันถัดมาก็ลดลงอีก รวมแล้วลดการส่งก๊าซไปประมาณ 60% โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะปัญหาทางเทคนิค ที่สืบเนื่องมาจาก แคนาดาคว่ำบาตรรัสเซียกรณีสงครามในยูเครน จนกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้บริษัทซีเมนส์ เอนเนอร์จี ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซียในเยอรมนี ส่งมอบอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซได้
 

ฮาเบค ไม่ยอมรับเหตุผลของรัสเซียโดยระบุว่า "ก๊าซพรอมไม่ควรประสบปัญหาเรื่องการซ่อมบำรุงท่อก๊าซจนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ร่วง และสถานการณ์ที่เลวร้ายลงในตลาดก๊าซในช่วงไม่กี่วันมานี้ เป็นกลยุทธ์ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่จะสร้างความสับสน ดันราคาให้สูงขึ้นและสร้างความแตกแยกให้กับทุกฝ่ายที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย และเยอรมนีจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น เยอรมนีกำลังสู้กลับด้วยการตัดสินใจที่เด็ดขาด แม่นยำและรัดกุม”

เยอรมนี ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย เพื่อใช้เป็นพลังงานตามบ้านเรือนและอุตสาหกรรมหนักในปริมาณมาก แต่ก็พยายามลดการนำเข้าจาก 55% เหลือ 35% ตั้งแต่ก่อนจะเกิดสงครามในยูเครน ส่วนสถานการณ์ในตอนนี้ ฮาเบค บอกว่า ประธานาธิบดีปูตินทำในสิ่งที่กังวลกันในตอนแรก ด้วยการลดปริมาณการส่งออกก๊าซแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ลดฮวบฮาบในคราวเดียว 

เมื่อเดือนมี.ค. รัสเซียขู่ว่าจะตัดก๊าซไปยังประเทศที่ไม่เป็นมิตรที่ไม่ยอมจ่ายค่าก๊าซเป็นเงินสกุลรูเบิลแทนสกุลดอลลาร์หรือยูโร

เมื่อเดือนมี.ค.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรองเยอรมนีได้ผ่านร่างกฎหมาย ว่าด้วยการจัดเก็บก๊าซและกำหนดสถานที่จัดเก็บก๊าซ โดย ปริมาณก๊าซจะต้องอยู่ในระดับ “เกือบเต็ม” ตั้งแต่เริ่มฤดูร้อน เพื่อให้อยู่ยาวไปจนฤดูหนาวอย่างปลอดภัย 

โดยกำหนดให้ภายในวันที่ 1 ต.ค. จะต้องมีปริมาณก๊าซสำรอง 80% ก่อนจะเพิ่มเป็น 90% ในวันที่ 1 พ.ย. และลดลงไปอยู่ระดับ 40% ในวันที่ 1 ก.พ.ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 56% ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แม้ว่าจะมีระดับการจัดเก็บที่ต่ำเป็นประวัติการณ์เมื่อต้นปี

เยอรมนี เป็นชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปและบริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดของทวีป ยืนยันว่ามีแผนเลิกใช้ถ่านหินในปี 2573 แต่บรรดากลุ่มสิ่งแวดล้อมแสดงความเคลือบแคลงสงสัยต่อแผนดังกล่าว

“การหวนกลับสู่ถ่านหินเป็นตัวเลือกที่แย่ ที่มาพร้อมกับผลกระทบทางโครงสร้าง ประเทศต่างๆ หวนกลับมาใช้พลังงานฟอสซิลแทนที่จะเดินหน้าลงทุนอย่างพอเพียงในพลังงานหมุนเวียน”  นีล มาคารอฟฟ์ จากไคลเมท เชนจ์ เน็ตเวิร์ค เครือข่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าว

ส่วนกลุ่มคาร์บอน มาร์เก็ต วอทช์ เห็นพ้องว่าการกลับคืนสู่ถ่านหินเป็นเรื่องที่น่า่กังวล พร้อมทั้งแสดงความหวังว่าความเคลื่อนไหวนี้จะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว

อียู แบนนำเข้าถ่านหินและน้ำมันจากรัสเซียอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดเล่นงานมอสโกตอบโต้กรณีรุกรานยูเครน กระตุ้นให้รัฐบาลมอสโกตอบโต้ด้วยการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติป้อนแก่ประเทศต่างๆ ในอียู

แม้รัสเซียอ้างปัญหาทางเทคนิคและเหตุผลด้านการบำรุงรักษาในอุปทานที่ลดลง แต่หลายชาติในอียูเชื่อว่าแท้จริงแล้วมอสโกกำลังพยายามเล่นงานอียูฐานสนับสนุนยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่รัฐบาลเคียฟยื่นใบสมัครหวังเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มในอนาคต