ดัชนีดาวโจนส์ร่วงในกรอบแคบ 47 จุดหลังถ้อยแถลง'พาวเวล'

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงในกรอบแคบ 47 จุดหลังถ้อยแถลง'พาวเวล'

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(22มิ.ย.)ปรับตัวร่วงลงในกรอบแคบ 47 จุด หลังประธานเฟดระบุว่า เฟดมีความมุ่งมั่นในการสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่ง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลดลง 47.12 จุด หรือ 0.15% ปิดที่ 30,483.13 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 4.90 จุด หรือ 0.13% ปิดที่ 3,759.89 จุด และดัชรนีแนสแด็ก ลดลง 16.22 จุด หรือ 0.15% ปิดที่ 11,053.08 จุด

หุ้นพลังงานปรับตัวลงสวนทางตลาด ตามการดิ่งลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงเกือบ 200 จุดในช่วงแรก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี ดัชนีดาวโจนส์ฟื้นตัวสู่แดนบวก หลังจากที่นายพาวเวลเปิดเผยว่าเฟดมีความสามารถในการสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่ง และสามารถรับมือกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

 ทั้งนี้ นายพาวเวลมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในวันนี้และพรุ่งนี้ หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนายพาวเวลกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันนี้ ก่อนที่จะกล่าวต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้

"ภายในองค์กรของเฟด เราเข้าใจดีถึงผลกระทบจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น โดยเรามีความมุ่งมั่นที่จะสกัดเงินเฟ้อให้ชะลอตัวลง และเรากำลังดำเนินการอย่างรวดเร็วไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ซึ่งเรามีทั้งเครื่องมือที่เราต้องการ และมีความตั้งใจที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพด้านราคาสำหรับครัวเรือนและภาคธุรกิจของชาวอเมริกัน" นายพาวเวลกล่าว

นอกจากนี้ นายพาวเวลยังระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะที่น่าพึงพอใจ โดยมีตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ขณะที่อุปสงค์อยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ดี นายพาวเวลยอมรับว่าเงินเฟ้ออยู่ในภาวะที่ร้อนแรงเกินไป และจำเป็นที่จะต้องชะลอตัวลง

"ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เรากำลังมองหาหลักฐานที่แสดงว่าเงินเฟ้อได้ปรับตัวลงกลับสู่เป้าหมาย 2% และเราคาดหวังว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะมีความเหมาะสม โดยอัตราการปรับอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เราได้รับ และแนวโน้มเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป" นายพาวเวลกล่าว

นอกจากนี้ นายพาวเวลยังตั้งข้อสังเกตว่า สงครามในยูเครนและการที่จีนใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดเฉพาะในสหรัฐ แต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

ขณะเดียวกัน ประธานเฟดย้ำว่ามาตรการคุมเข้มทางการเงินถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจสหรัฐสามารถรับมือกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น