โครงการ‘ไชน่าเฮาส์’กลไกสอดส่องจีนของสหรัฐ

โครงการ‘ไชน่าเฮาส์’กลไกสอดส่องจีนของสหรัฐ

ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ยังคงตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐประกาศเปิดตัวกลไกใหม่เพื่อใช้ติดตามดูการพยายามแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก

กลไกใหม่ที่ว่ามีชื่อว่า โครงการไชนาเฮาส์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของกรุงวอชิงตันเกี่ยวกับสิ่ง “แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บรรยายไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่าเป็น วิวัฒนาการของจีนที่ถือเป็น ความท้าทายระยะยาวที่ร้ายแรงที่สุดต่อความสงบเรียบร้อยภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบ

เว็บไซต์ข่าววอยซ์ ออฟ อเมริกา (วีโอเอ)ได้นำเสนอรายงานเรื่องนี้โดยระบุว่าเมื่อผู้สื่อข่าวของวีโอเอ ได้ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการนี้  โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพของโครงการ China House แต่บอกแค่ว่า โครงการนี้เป็นการทำงานของทีมงานในกระทรวงที่จะทำงานประสานกันและนำเสนอนโยบายของกระทรวงในทุกเรื่องและทุกภูมิภาค

โฆษกกระทรวงรายนี้ ซึ่งปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัว บอกกับวีโอเอ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วด้วยว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ จะเดินหน้าและเร่งยกระดับความพยายามบูรณาการความเชี่ยวชาญและทรัพยากรเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนให้มาอยู่กับศูนย์กลางการประสานงานด้านนโยบายใหม่แห่งนี้

ด้าน“หลิว เฟิ่งหยู” โฆษกของสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงวอชิงตัน ส่งอีเมล์ถึงวีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางว่า “กุญแจที่จะทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐหลุดพ้นจากสภาพการณ์ในปัจจุบันคือ การที่สหรัฐละทิ้งความบ้าคลั่งที่จะเล่นเกมผลรวมศูนย์ (zero-sum game) เลิกครอบงำตัวเองด้วยความพยายามที่จะตีวงและควบคุมจีน พร้อมทั้งหยุดบ่อนทำลายความสัมพันธ์จีน-สหรัฐได้แล้ว”

หลิว ยังกล่าวด้วยว่า “เราเข้าใจสิ่งที่รัฐมนตรีบลิงเคน พูดว่า สหรัฐไม่ได้ต้องการความขัดแย้งหรือสงครามเย็นครั้งใหม่กับจีน และสหรัฐไม่ได้พยายามปิดกั้นจีนจากการขึ้นมามีบทบาทเป็นประเทศมหาอำนาจ หรือยับยั้งจีนไม่ให้ขยายเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้ง ต้องการจะอยู่ร่วมกับจีนโดยสันติสุข และเราจะเฝ้าดูสิ่งที่สหรัฐจะทำนับจากนี้ไป
 

 ส่วน “หู สีจิ้น” อดีตบรรณาธิการสื่อที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนอย่างโกลบอล ไทม์ส และเป็นนักวิเคราะห์ข่าวผู้ทรงอิทธิพล ไม่คิดว่าโครงการไชนาเฮาส์ของสหรัฐจะมีความสำคัญอะไรมากมาย

ก่อนที่โครงการใหม่จะได้รับการเปิดตัวออกมาเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา นิตยสาร Foreign Policy ตีพิมพ์บทความเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้วว่า รัฐบาลสหรัฐจะจัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนด้วยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำภูมิภาคจีนเข้ามา “เฝ้าดู” ความเป็นไปต่าง ๆ เพิ่มอีก 20-30 คน ที่จะไปประจำการตามสำนักงานภูมิภาคต่าง ๆ ของกระทรวงการต่างประเทศสสหรัฐ

การเปิดตัวโครงการนี้อย่างเป็นทางการเกิดขึ้น ขณะที่สหรัฐกำลังเร่งเดินเครื่องการทำงานด้านการทูตเพื่อตอบโต้ความพยายามของจีนที่จะเข้ามามีบทบาทในเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา “หวัง อี้” รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนเพิ่งเดินทางเยือนประเทศเล็ก ๆ ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้เป็นเวลา 10 วัน หลังจากกรุงปักกิ่งลงนามข้อตกลงด้านความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอนเมื่อเดือนก่อน

การเคลื่อนไหวของกรุงปักกิ่ง ทำให้กรุงวอชิงตันต้องเร่งหันมาให้ความใส่ใจต่อประเทศหมู่เกาะต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและเอเชียแปซิฟิกอย่างเร่งด่วน เพื่อสกัดกั้นการรุกคืบของจีน ซึ่งสอดคล้องกับคำร้องขอของ“จาซินดา อาร์เดิร์น” นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ที่ให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้าหาประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกมากยิ่งขึ้น ระหว่างการเข้าพบหารือที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 31 พ.ค.

อดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐบางคนและผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์จีน-สหรัฐให้ความเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาล ปธน.ไบเดน ต้องการจากการเปิดตัวโครงการไชนาเฮาส์คือ การประกาศจุดยืนของประเทศในด้านทิศทางความสัมพันธ์กับจีนนับจากนี้ไป

ด้าน"ดักลาส พาล" นักวิชาการจาก Carnegie Endowment for International Peace ในกรุงวอชิงตัน บอกว่า รัฐบาลสหรัฐพยายามแสดงให้เห็นจุดยืนของตนต่อการประเมินทั้งจากคนทั่วไปและจากภายในรัฐบาลเอง ที่ชี้ว่า จีนเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐในยุคนี้

ขณะที่“แซ็ค คูเปอร์” นักวิชาการอาวุโสจาก American Enterprise Institute ในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การตั้งหน่วยงานใหม่คือวิธีที่กรุงวอชิงตันใช้ในการแสดงให้เห็นว่าสหรัฐจริงจังกับประเด็นอิทธิพลจีนมากเพียงใด