ดาวโจนส์ดิ่ง 269 จุดหลังเฟดเตือนเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงถดถอย

ดาวโจนส์ดิ่ง 269 จุดหลังเฟดเตือนเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงถดถอย

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(8มิ.ย.)ปรับตัวร่วงลง 269 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 269.24 จุด หรือ 0.81% ปิดที่ 32,910.90 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 44.91 จุด หรือ 1.08% ปิดที่ 4,115.77 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 88.96 จุด หรือ 0.73% ปิดที่ 12,086.27 จุด

นักลงทุนกังวลว่าสหรัฐอาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ด้านเฟดสาขาแอตแลนตาเปิดเผยว่า แบบจำลอง GDPNow tracker บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งจะเข้าเกณฑ์การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

GDPNow tracker บ่งชี้ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวเพียง 0.9% ในไตรมาส 2 หลังจากหดตัวลง 1.5% ในไตรมาส 1 ทำให้สหรัฐมีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจจะหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส

ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งกลับมาดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 3% หลังจากชะลอตัวลงวานนี้

ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่างๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

นักลงทุนจับตาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันศุกร์นี้ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว

นอกจากนี้ ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 14-15 มิ.ย. โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว รวมทั้งในการประชุมเดือนก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ เฟดเริ่มใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ในเดือนมิ.ย. ตามมติในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 4 พ.ค. โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เฟดจะเพิ่มวงเงินในการลดขนาดงบดุลเป็น 2 เท่า สู่ระดับ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน