‘ผู้ชายลาเลี้ยงลูก’ พื้นฐานแห่งความเท่าเทียม

‘ผู้ชายลาเลี้ยงลูก’ พื้นฐานแห่งความเท่าเทียม

‘ผู้ชายลาเลี้ยงลูก’ พื้นฐานแห่งความเท่าเทียม โดยพ่อที่ลาเพื่อดูแลลูกไม่เพียงแต่จะช่วยสนับสนุนคู่สมรสให้ดำเนินตามเป้าหมายทางอาชีพของตนเองเท่านั้น แต่ยังทำให้ตนค้นพบพลังของตนเองในการทำหน้าที่ผู้ดูแลเด็

เหตุใดการที่พ่อสามารถลาเลี้ยงดูลูกได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ โปรดร่วมกับเราส่งเสริมการลาเลี้ยงดูลูกของผู้เป็นพ่อ

สวีเดนเป็นประเทศแรกในโลกที่ริเริ่มให้มีการลาเลี้ยงดูลูกโดยยังได้รับค่าจ้างแก่ทั้งพ่อและแม่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 โดยพ่อและแม่ในสวีเดนมีสิทธิลาเพื่อเลี้ยงดูลูกโดยได้รับค่าจ้างเป็นจำนวน 480 วัน เมื่อมีลูกหรือเมื่อรับเลี้ยงลูกบุญธรรม ในจำนวนวันลาดังกล่าว พ่อและแม่สามารถตกลงแบ่งวันกันได้ตามที่เห็นสมควรเป็นจำนวน 390 วัน โดยสามารถใช้วันลาได้อย่างยืดหยุ่นจนกระทั่งลูกอายุ 8 ขวบ

ผมหวนรำลึกถึงความหลังเก่า ๆ อย่างมีความสุขถึงช่วงเวลาที่ผมได้รับสิทธิแสนพิเศษนี้เพื่อลาเลี้ยงดูลูกสาวและทำงานบ้านเป็นเวลาหกเดือนเต็ม ขณะที่คู่สมรสของผม (ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเช่นกัน) ได้กลับไปทำงานตามปกติ บางครั้งการสร้างสมดุลระหว่างครอบครัวและการทำงานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่อย่างน้อยการช่วยกันรับผิดชอบก็ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น สนุกขึ้น และมีความหมายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การเป็นผู้ปกครองนั้นคือการทำงานเป็นทีมนั่นเอง

นอกเหนือจากสายสัมพันธ์ในครอบครัวที่แน่นแฟ้นขึ้นแล้ว การลาเลี้ยงดูลูกสำหรับพ่อและแม่อย่างเท่าเทียมก่อให้เกิดประโยชน์ทางสังคมหลายประการ ในทางเศรษฐกิจ มันช่วยให้ประเทศสวีเดนเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน

การปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจของผู้หญิงช่วยให้สถานที่ทำงานเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้นและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นผลดีต่อผลิตภาพ นวัตกรรม และบรรยากาศในการทำงานที่ดีขึ้น สรุปสั้น ๆ ก็คือ เราทุกคนจะได้รับประโยชน์จากตลาดแรงงานที่มีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอันเป็นผลมาจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงและสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายประเทศกำลังประสบอยู่ 

ผมภูมิใจที่จะกล่าวว่าสวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการจ้างงานผู้หญิงสูงสุดในโลก รองจากไอซ์แลนด์เท่านั้น กล่าวคือ มีผู้หญิงสวีเดนถึงร้อยละ 80.3 ในตลาดแรงงาน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 49 ศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์อาจจะต้องสูญเปล่าไปเพียงเพราะผู้หญิงต้องเลือกระหว่างอาชีพและการดูแลครอบครัว ทุกคนควรมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการกำหนดความเป็นไปในสังคมและชีวิตของตนเอง นี่เป็นสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและความยุติธรรม

พ่อที่ลาเพื่อดูแลลูกไม่เพียงแต่จะช่วยสนับสนุนคู่สมรสให้ดำเนินตามเป้าหมายทางอาชีพของตนเองเท่านั้น แต่ยังทำให้ตนค้นพบพลังของตนเองในการทำหน้าที่ผู้ดูแลเด็ก ด้วยเหตุนี้ ผมขอสดุดีฮีโร่ของทุกครอบครัวไม่ว่าเพศใดที่สละเวลาจากการทำงานเพื่อสานสัมพันธ์และสร้างความเข้มแข็งให้แก่หน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุดแต่ก็เก่าแก่ที่สุด ซึ่งก็คือครอบครัวของเรานั้นเอง

อย่างที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น การที่พ่อลาเพื่อเลี้ยงดูลูกยังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศทั้งที่บ้านและที่ทำงานผ่านความรับผิดชอบร่วมกัน สาเหตุทั่วไปประการหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถทำงานประจำได้ก็คือการต้องดูแลลูก

ในหลายกรณี การที่ผู้หญิงลาเลี้ยงดูลูกเป็นเวลานานอาจส่งผลถึงอาชีพการงานและค่าตอบแทนที่น้อยลง การที่พ่อแม่ในสวีเดนสามารถลาเลี้ยงดูลูกอย่างเท่าเทียมได้เป็นระยะเวลานานก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา สวีเดนไม่เคยอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าห้าของการจัดอันดับความเท่าเทียมทางเพศโดย World Economic Forum จากกว่า150 ประเทศทั่วโลก

หลักการเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนอยู่ในนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาลสวีเดนเท่านั้น แต่ทว่าบริษัทสวีเดนต่าง ๆ ยังมีบทบาทช่วยส่งเสริมโลกแห่งการทำงานให้เท่าเทียม มีสุขภาวะที่ดี ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นั่นคือเหตุผลที่ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ‘ทีมสวีเดน’ ซึ่งประกอบด้วยสถานเอกอัครราชทูตสวีเดน Business Sweden และหอการค้าไทย-สวีเดน ได้ร่วมมือกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสวีเดน 12 บริษัท อาทิ IKEA, Volvo, ABB, Electrolux, AstraZeneca และ Atlas Copco ริเริ่มโครงการที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย นั่นคือ บริษัทเหล่านี้ได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจที่จะให้พนักงานชายได้มีโอกาสลาเลี้ยงดูลูกเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนโดยยังได้รับค่าจ้างเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ผมขอชื่นชมบริษัทเหล่านี้ และยินดีอย่างยิ่งที่คุณพ่อหลาย ๆ คนในประเทศไทยจะมีโอกาสดูแลลูก ๆ ซึ่งเสมือนกับได้รับพรอันประเสริฐ

การที่กลุ่มบริษัทต่าง ๆ เข้าร่วมรณรงค์ในโครงการนี้ เราหวังว่าจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยถึงความสำคัญของสภาพการจ้างงานที่ดี โดยเฉพาะด้านสวัสดิการของผู้เป็นพ่อแม่ นอกจากนี้ ผมขอเชิญชวนให้ผู้บริหารบริษัททั้งไทยและต่างประเทศโปรดพิจารณาให้มีการลาเลี้ยงดูลูกแก่ผู้เป็นพ่อและดำเนินมาตรการเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในโลกแห่งการทำงานอย่างจริงจัง เพราะมันเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลในทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้

ผมขอท้าเชิญท่านผู้อ่านในการช่วยแบ่งเบาภาระความรับผิดชอบที่บ้านมากขึ้น เพราะเพียงแค่เราปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สังคมของเรามีความเท่าเทียม ยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังมากยิ่งขึ้นในอนาคต