วิกฤติขาดแคลนแรงงานมาเลย์ฉุดโอกาสทองอุตฯน้ำมันปาล์ม

วิกฤติขาดแคลนแรงงานมาเลย์ฉุดโอกาสทองอุตฯน้ำมันปาล์ม

สมาคมเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มาเลเซีย (เอ็มอีโอเอ) เตือนว่า มาเลเซียกำลังสูญเสียโอกาสทองในการใช้ประโยชน์จากน้ำมันปาล์มราคาแพงและอาจประสบความสูญเสียในด้านการผลิตมากยิ่งขึ้นจากผลพวงของภาวะขาดแคลนแรงงานขั้นรุนแรงประมาณ 120,000 ราย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสองของโลกต้องประสบปัญหาเรื่องการเก็บเกี่ยวปาล์ม เนื่องจากภาวะขาดแคลนแรงงานที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากการบังคับใช้มาตรการจำกัดผู้อพยพ หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ปกติแล้วแรงงานต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 80% ของแรงงานเพาะปลูก หรือประมาณ 437,000 คนในช่วงแรกของการระบาด

เอ็มอีโอเอ กล่าวว่า ราคาน้ำมันปาล์มแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ เนื่องจากภาวะขาดแคลนแรงงาน การจำกัดการส่งออกของอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ผู้ผลิตมาเลเซียกลับไม่สามารถคว้าโอกาสจากสิ่งเหล่านี้ได้
 

“ความจริงที่น่าเศร้าคือ มาเลเซียกำลังสูญเสียโอกาสทองในการใช้ประโยชน์จากน้ำมันปาล์มราคาแพง เนื่องจากเราไม่สามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวปาล์มได้อย่างเหมาะสมเพราะแรงงานมีจำนวนจำกัด” เอ็มอีโอเอ กล่าว

นอกจากนี้ เอ็มอีโอเอ ยังระบุด้วยว่า การคาดการณ์อุตสาหกรรมสำหรับการผลิตประจำปี 2565 ที่ 18.6 ล้านตันนั้น มีแนวโน้มถูกปรับลดลงเพิ่มเติมหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ในทันที

คำเตือนของเอ็มอีโอเอ มีขึ้นหลังจากมาเลเซียตั้งเป้าชิงส่วนแบ่งตลาดน้ำมันปาล์มในสหภาพยุโรป(อียู) ขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอย่างหนัก พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันปาล์มยังคงจะอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

มาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ อันดับสองของโลกรองจากอินโดนีเซียประกาศเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า มาเลเซียกำลังวางแผนใช้ประโยชน์จากภาวะขาดแคลนน้ำมันปาล์มทั่วโลก และความตึงเครียดทางการเมืองในยุโรปชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้ซื้อในยุโรปส่วนหนึ่งพากันหลีกเลี่ยงการสั่งซื้อน้ำมันปาล์มมาเลเซีย เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า น้ำมันปาล์มมีประโยชน์สำหรับการนำไปใช้ผลิตสินค้าแทบทุกประเภทตั้งแต่ลิปสติก ไปจนถึงเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่อินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก ยังคงต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรจากประเทศผู้ซื้อที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม หลังถูกกล่าวหาเรื่องการแผ้วถางป่า การทำลายป่าธรรมชาติ และการเอาเปรียบแรงงานต่างด้าวเพื่อเร่งขยายการเพาะปลูกปาล์ม

“ซูไรดา คามารุดดิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์มาเลเซีย ระบุว่า มาเลเซียไม่ต้องการสูญเสียโอกาสดีเช่นนี้ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะเพิ่มความพยายามในการต่อต้านโฆษณาชวนเชื่อที่บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของน้ำมันปาล์มมาเลเซีย และแสดงให้ผู้คนเห็นถึงคุณประโยชน์มากมายมหาศาลที่น้ำมันปาล์มมีต่อสุขภาพ

ซูไรดา ระบุว่า ในแง่ของราคา ราคาน้ำมันปาล์มโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อไปตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และอุปสงค์ของอียูก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะใกล้เนื่องจากอุปทานน้ำมันดอกทานตะวันและน้ำมันถั่วเหลืองตึงตัว

ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดอกทานตะวัน ซึ่งเป็นผลพวงจากกรณีการบุกยูเครนของรัสเซีย ได้กระตุ้นอุปสงค์น้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง เนื่องจากบรรดาผู้นำเข้าต่างก็เร่งแสวงหาอุปทานทดแทน ซึ่งหนุนให้ตลาดน้ำมันพืชมีความร้อนแรง

นอกจากนี้ ซูไรดายังกล่าวด้วยว่า มาเลเซียจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงด้านอุปสงค์ครั้งนี้ โดยรัฐบาลจะใช้ความพยายามและการส่งเสริมเชิงรุกเพื่อเติมเต็มช่องว่างอุปทานโลกในระยะยาว

มาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งผลิตน้ำมันปาล์มรวมกันในสัดส่วนสูงถึง 85% ของผลผลิตน้ำมันปาล์มโลก ยืนยันว่า การออกมาตรการจำกัดเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มของอียูถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย จึงได้แยกกันยื่นคำร้องเรื่องดังกล่าวต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)