เปิดคลังแสงวัคซีนสหรัฐ ยุทธศาสตร์‘สู้ฝีดาษลิง’

เปิดคลังแสงวัคซีนสหรัฐ  ยุทธศาสตร์‘สู้ฝีดาษลิง’

รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนส่งวัคซีนฝีดาษลิง 1,200 โดส ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสัมผัสไวรัสสูง ส่วนหนึ่งของมาตรการรับมือด้านสาธารณสุขระดับชาติขจัดโรคร้ายก่อนกลายเป็นการระบาดรุนแรง

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) วิตกกังวลเรื่องที่ไวรัสฝีดาษลิงแพร่เร็วกว่าที่คิดไว้ เมื่อวันพุธ (1 มิ.ย.) องค์การอนามัยโลกรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 550 คน ใน 30 ประเทศ ในสหรัฐรายงานผู้ติดเชื้อยืนยันแล้วหรือต้องสงสัยติดเชื้อฝีดาษลิงอย่างน้อย 20 คน ใน 11 รัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย โคโลราโด ฟลอริดา จอร์เจีย อิลลินอยส์ แมสซาชูเซตส์ นิวยอร์ก เพนซิลเวเนีย เวอร์จิเนีย ยูทาห์ และวอชิงตัน

นายแพทย์ราช ปัญจาบี หัวหน้าสำนักงานเตรียมความพร้อมรับโรคระบาดของทำเนียบขาว แถลงกับผู้สื่อข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ขนาดและขอบเขตการระบาดของฝีดาษลิงทั่วโลกในตอนนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ซีดีซีพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า การเข้ามาถึงสหรัฐของฝีดาษลิงแตกต่างกันอย่างมากกับโควิด-19 เมื่อสองปีก่อน ตอนนั้นนักวิทยาศาสตร์แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโควิดเพราะเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก และสหรัฐไม่มีวัคซีนหรือยาต้านไวรัสสู้โควิดในปี 2563

กล่าวอีกนัยหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์รู้จักฝีดาษลิงมาตั้งแต่ปี 1958 ตอนที่พบครั้งแรกขณะระบาดในหมู่ลิงที่เลี้ยงไว้เพื่อทำการวิจัย ส่วนการติดต่อในมนุษย์ก็ได้รับการศึกษามาตั้งแต่ทศวรรษ 70 อีกทั้งหน่วยงานสาธารณสุขโลกยังมีประสบการณ์ต่อสู้กับไข้ทรพิษได้สำเร็จ องค์การอนามัยโลกประกาศว่ากำจัดไข้ทรพิษได้แล้วในปี 1980 (พ.ศ.2523) ผลจากความพยายามฉีดวัคซีนป้องกันทั่วโลก ซึ่งฝีดาษลิงเป็นไวรัสตระกูลเดียวกับไข้ทรพิษแต่อ่อนกว่ามาก

โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการซีดีซีแถลงเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า สหรัฐเตรียมรับการระบาดของไวรัสอย่างฝีดาษลิงมาหลายสิบปีแล้ว มีวัคซีนหลายล้านโดสอยู่ในคลังแสงยุทธศาสตร์ของชาติ ปกป้องทั้งฝีดาษลิงและไข้ทรพิษ รวมถึงยาต้านไวรัสเพื่อใช้รักษาโรค

ดอว์น โอคอนเนล ผู้อำนวยการสำนักงานบริการสุขภาพและมนุษย์ ดูแลคลังแสงวัคซีนยุทธศาสตร์แห่งชาติ กล่าวเมื่อวันศุกร์ (3 มิ.ย.) ว่า สหรัฐมีวัคซีนในมือมากพอจัดการกับการระบาดของฝีดาษลิงในปัจจุบันได้ แต่ไม่ได้เปิดเผยจำนวนโดส

สหรัฐมีวัคซีนสองตัวแต่วัคซีนจินนีเอิส” (Jynneos) ตัวที่นิยมเลือกใช้มีซัพพลายน้อยกว่า เป็นวัคซีนชนิดสองโดสได้รับการอนุมัติจากสำนักงานอาหารและยา (เอฟดีเอ) ในพ.ศ. 2562 เพื่อป้องกันฝีดาษลิงในผู้ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี โดยทั่วไปซีดีซีแนะนำให้ใช้วัคซีนจินิเอิสมากกว่าACAM2000 ที่เป็นวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษรุ่นเก่ากว่าที่อาจมีผลข้างเคียงรุนแรง

เจนนิเฟอร์ แมคควิสตัน เจ้าหน้าที่ซีดีซีเผยเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า สหรัฐมีวัคซีนจินนีเอิส 1,000 โดส แต่บาวาเรียน นอร์ดิกบริษัทผู้ผลิตสัญชาติเดนมาร์ก กล่าวว่า แท้จริงแล้วสหรัฐมีวัคซีนจินนีเอิสแช่แข็งไว้ในสหรัฐและเดนมาร์กกว่า 1 ล้านโดสตามคำสั่งเมื่อเดือน เม.ย.2563 วัคซีนมีอายุสามปี

ข้อมูลจากโฆษกบริษัท สหรัฐสั่งซื้อวัคซีนจินนีเอิสเกือบ 30 ล้านโดสตั้งแต่ พ.ศ. 2553 แต่ในจำนวนนี้ 28 ล้านโดสหมดอายุแล้ว บาวาเรียนนอร์ดิกมีแผนเพิ่มการผลิตในฤดูร้อนนี้จากขีดความสามารถในการผลิต 30 ล้านโดสต่อปี

นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐยังมีวัคซีน ACAM2000 ผลิตโดยบริษัทอีเมอร์เจนท์ ไบโอโซลูชันส์อีกกว่า 100 ล้านโดส ข้อมูลจากซีดีซีนับถึงวันอังคาร (31 พ.ค.) สหรัฐปล่อยวัคซีนจินนีเอิสไปแล้ว 500 โดส วัคซีนACAM2000 อีก 200 โดส พร้อมส่ง tecovirimat ยาต้านไวรัสชนิดรับประทานไปยังรัฐต่างๆ อีก 100 คอร์ส

“เราต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงสัมผัสเชื้อสูงว่าสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว และถ้าป่วยก็สามารถรับการรักษาอย่างเหมาะสม” ปัญจาบีกล่าวเมื่อวันศุกร์ ทั้งจินนีเอิสและ ACAM2000 สามารถฉีดได้ทั้งก่อนหรือหลังสัมผัสไวรัส อย่างไรก็ตาม คนไข้จำเป็นต้องได้รับวัคซีนภายในสี่วันเพื่อป้องกันเชื้อโรคโจมตี

ไมค์ สลิฟกา นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และสุขภาพออริกอน ผู้ศึกษาฝีดาษลิง ให้ข้อมูลว่า ACAM2000 ให้ระดับการป้องกันฝีดาษลิงสูงในสัตว์ คาดว่าป้องกันโรคได้ 85% คล้ายกับวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษรุ่นก่อนๆ ส่วนจินนีเอิสมีข้อมูลน้อยเพราะเป็นวัคซีนใหม่ แต่สร้างระดับภูมิคุ้มกันในมนุษย์ได้มากพอสมควร เชื่อว่าป้องกันโรคร้ายแรงได้