ปิดฉากประชุมดาวอส-ผู้ว่าฯแบงก์ชาติร่วมเวทีถกประเด็นร้อนวาระระดับโลก

ปิดฉากประชุมดาวอส-ผู้ว่าฯแบงก์ชาติร่วมเวทีถกประเด็นร้อนวาระระดับโลก

การประชุมดาวอสหรือเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-26 พ.ค. เป็นการจัดประชุมแบบ “พบหน้ากัน” เป็นครั้งแรกในรอบสองปี มีผู้นำทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาสังคมกว่า 2,000 คน เข้าร่วมถกประเด็นร้อนที่เป็นวาระระดับโลก

ผู้ว่า ธปท.เผยแผน CBDC

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC)และแผนนโยบายผลักดันในอนาคตโดยในไตรมาส 4 ปี 65 มีแผนนำร่องทดลองสกุลเงินดิจิทัลเพื่อทดสอบการใช้ในระดับประชาชน (Retail CBDC)ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งการทดสอบในครั้งนี้มีผู้ให้บริการทางการเงิน และสถาบันทางการเงินเข้ามาร่วมด้วย ถือเป็นการเตรียมตัวของธนาคารกลางเพื่อออก Retail CBDC รวมทั้งมีโอกาสที่จะเห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ง่ายกว่าระบบ Retail CBDC

สำหรับ CBDC นั้นไม่ได้ออกมาเพื่อตัดบทบาทของธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นหัวใจสำคัญทำให้ CBDC เติบโตขึ้น จากการร่วมมือกันระหว่างธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์หรือหน่วยงานเอกชน เช่น ธปท.เป็นผู้ออก CBDC และธนาคารพาณิชเป็นศูนย์กลางการขายให้นักลงทุนรายย่อย จากการสร้างนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาในระบบทางการเงินของปัจจุบันได้ ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์สำหรับอนาคต

การพัฒนาจากจุดเริ่มต้นที่สำคัญในปี 2561 เริ่มต้นจากการทดลองในโครงการ mBridge เป็นการสร้างช่องทางการชำระเงินข้ามพรมแดน ที่ร่วมมือกับธนาคารกลางฮ่องกงและได้เติบโตขึ้น รวมถึงธนาคารแห่งประเทศจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การทำธุรกรรมข้ามพรมแดนโดยใช้เทคโนโลยีการธนาคารแบบดั้งเดิมอาจใช้เวลาหลายวันกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ในขณะที่ธุรกรรม CBDC นั้นเร็วกว่ามาก

ทั้งนี้ยังเชื่อว่าประเทศไทยไม่ได้ช้ากว่าประเทศอื่น ท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายประเทศยังรอดูความเสี่ยง ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศแรกที่เข้ามาศึกษา CBDC และเป็น 1 ใน 10 ประเทศของโลกที่ทำ CBDC 

ผู้นำกัมพูชาเข้าร่วมปาฐกถาในฐานะ “ประธานอาเซียน”

 สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เข้าร่วมการประชุมดับเบิลยูอีเอฟประจำปีนี้ ในฐานะประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ตามคำเชิญของนายเคลาส์ ชวับ ซึ่งเป็นประธานและผู้ก่อตั้งดับเบิลยูอีเอฟ และได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Strategic Outlook on ASEAN” ในพิธีปิดการประชุม รวมทั้งกล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ “Restoring Peace and Order” ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในงานเลี้ยงอาหารเที่ยง 
 

ผู้นำเตือนเศรษฐกิจโลกมืดมน

บรรดานักธุรกิจระดับแนวหน้าและผู้นำรัฐบาลประเทศต่างๆ มองภาพรวมแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ว่ายังคงมืดมน เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงมากมายที่ขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ  

ประกอบกับการที่หลายประเทศชั้นนำกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อในระดับที่รุนแรงทั้งสหรัฐ อังกฤษ และสหภาพยุโรป(อียู) ฉุดรั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และสั่นคลอนเสถียรภาพของตลาดการเงิน บีบให้ธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น

นี่ยังไม่นับรวมปัจจัยกดดันจากปัญหาสงครามในยูเครน และการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลจีน

“โรเบิร์ต ฮาเบค” รองนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี มีความเห็นว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเจอวิกฤติอย่างน้อย 4 วิกฤติพร้อมๆ กันคือ เงินเฟ้อพุ่ง พลังงานแพง อาหารขาดแคลน และภาวะโลกร้อน การจะแก้ไขปัญหาได้ต้องทำควบคู่กันไป ไม่สามารถมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งก่อนได้เลย

ฮาเบค กล่าวด้วยว่า ถ้าไม่สามารถปลดล็อกปัญหาวิกฤติเหล่านี้ได้ โลกจะได้รับผลกระทบจากภาวะถดถอยและสั่นคลอนเสถียรภาพอย่างรุนแรง

ประธานอีซีบีเตือนเงินเฟ้อกดดันเศรษฐกิจ

“คริสติน ลาการ์ด” ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เตือนว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินเฟ้อเป็นขั้วตรงกันข้ามกัน เพราะยิ่งเงินเฟ้อสูงขึ้นเท่าใด ยิ่งกดดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง และอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภคหดตัวมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ลาการ์ดก็ให้คำมั่นที่จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.และก.ย. เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อ แม้ว่าต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจก็ตาม

ไอเอ็มเอฟเตือนเศรษฐกิจโลกวุ่นหนัก

“คริสตินา จีโอจีวา” ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า สถานการณ์การเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ กำลังเข้าสู่ความยุ่งเหยิงอย่างยิ่ง ผลพวงจากทั้งการระบาดของโควิด-19 ตลอดไปจนถึงความขัดแย้งในยูเครน ตลาดการเงินที่เปราะบางอย่างยิ่ง รวมไปถึงปัญหาจากระบบห่วงโซ่อุปทาน ถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 

ขณะนี้มี 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว ที่ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ นับตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครน ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก นอกจากนี้ ครัวเรือนทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับราคาอาหาร และราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ สร้างความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะที่ยุ่งเหยิงอย่างที่สุด 

โซรอสแนะกำราบปูตินโดยเร็วที่สุด

จอร์จ โซรอส อภิมหาเศรษฐีการเงิน วัย 91 ปี กล่าวว่า การที่รัสเซียรุกรานยูเครนอาจเป็นจุดเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 3 ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาอารยธรรมเสรีเอาไว้คือชาติตะวันตกต้องเอาชนะกองทัพของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินให้ได้ สงครามยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ระหว่างสังคมเปิดกับสังคมปิดอย่างจีนและรัสเซีย 

“การรุกรานนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 3 และอารยธรรมของเราอาจไม่รอด วิธีที่ดีที่สุดเผลอๆ เป็นเพียงวิธีเดียวในการรักษาอารยธรรมของเราก็คือต้องกำราบปูตินให้ได้โดยเร็วที่สุด นี่คือคำตอบสุดท้าย” โซรอสกล่าวและว่า ตอนนี้ปูตินเชื่อแล้วว่าการรุกรานยูเครนเป็นความผิดพลาดและกำลังเตรียมการเจรจาหยุดยิง แต่ที่การหยุดยิงเกิดขึ้นไม่ได้เพราะปูตินเป็นคนไว้ใจไม่ได้ “ยิ่งปูตินอ่อนแอก็ยิ่งคาดเดายาก”