ดาวโจนส์พลิกบวกหลังทรุดกว่า 600 จุด เหตุกังวลเศรษฐกิจถดถอย

ดาวโจนส์พลิกบวกหลังทรุดกว่า 600 จุด เหตุกังวลเศรษฐกิจถดถอย

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์(20พ.ค.)ปรับตัวขึ้น 8.77 จุด หลังจากร่วงลงกว่า 600 จุดช่วงการซื้อขายระหว่างวัน ด้านโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า มีโอกาส 35% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยในอีก 2 ปีข้างหน้า

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้น 0.03% ปิดที่ 31,261.90 จุด

ดัชนีเอสแอนด์พี500 ปรับตัวขึ้น 0.01% ปิดที่ 3,901.36 จุด

ดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวร่วงลง 0.30%  ปิดที่ 11,354.62 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลงกว่า 200 จุดเมื่อวันพฤหัสบดี เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และวิตกว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

ทั้งนี้ โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า มีโอกาส 35% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่เวลส์ ฟาร์โกคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงสิ้นปี 2565 จนถึงต้นปี 2566

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดีดตัวขึ้นในช่วงแรก โดยได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลง 4% นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ และมีแนวโน้มปรับตัวลงติดต่อกัน 8 สัปดาห์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2466 ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 และดัชนีแนสแด็กมีแนวโน้มปรับตัวลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 7

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทถูกกดดันในสัปดาห์นี้ โดยการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทโคห์ลส์เมื่อวานนี้ สอดคล้องกับผลประกอบการที่น่าผิดหวังของทาร์เก็ต, โลว์ส และวอลมาร์ทก่อนหน้านี้ และเป็นการตอกย้ำว่าภาวะเงินเฟ้อได้เริ่มส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก

นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรง จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากหดตัวลง 1.4% ในไตรมาส 1/65 ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยืนยันว่า เฟดไม่ลังเลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุด หากมีความจำเป็นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 2 ครั้ง ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. หลังจากที่เฟดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพ.ค. เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี

ขณะเดียวกัน เฟดเตรียมปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งเฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และหลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

นักลงทุนจับตารายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำวันที่ 3-4 พ.ค. ซึ่งจะมีการเปิดเผยในสัปดาห์หน้า เพื่อหาทิศทางอัตราดอกเบี้ยและการทำ QT ของเฟด