‘เงินเฟ้อพุ่ง-น้ำมันแพง’ปัญหาปากท้องมะกัน-อังกฤษ

‘เงินเฟ้อพุ่ง-น้ำมันแพง’ปัญหาปากท้องมะกัน-อังกฤษ

สงครามรัสเซียกับยูเครนนอกจากจะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทะยานขึ้นไปอยู่ที่ 114.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อปากท้องของพลเมืองในสหรัฐและสหราชอาณาจักรเพราะเงินเฟ้อพุ่ง ข้าวของราคาแพง

ชาวอเมริกันกำลังเผชิญสถานการณ์ “Bidenflation” ราคาน้ำมันเฉลี่ยต่อแกลลอน (ราว 3.785 ลิตร) อยู่ที่ 4.57 ดอลลาร์ เกือบ 2 เท่าของเดือนสุดท้ายในสมัยทรัมป์ ซึ่งอยู่ที่ 2.41 ดอลลาร์ ขณะที่ปั๊มน้ำมันในรัฐวอชิงตัน ดีซี เตรียมปรับโปรแกรมเพื่อรองรับความเป็นไปได้ ที่ราคาน้ำมันจะทะยานขึ้นไปถึงแกลลอนละ 10 ดอลลาร์ 

ส่วนปั๊มน้ำมันอื่น ๆ อย่างน้อย 10 แห่งในรัฐ ทั้ง“เอ็กซ์ซอน”และ“เซอร์เคิล เค” ต่างติดป้ายน้ำมันหมด ขณะที่บางรัฐ อย่าง แคลิฟอร์เนีย มีรายงานราคาน้ำมันทะยานขึ้นไปถึง 5.98 ดอลลาร์ ในสัปดาห์นี้

สถานการณ์ราคาน้ำมันหน้าปั๊มสอดคล้องกับผลสำรวจของอิพซอส ที่บ่งชี้ว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่วิตกต่อภาวะเงินเฟ้อมากที่สุด สอดคล้องกับสถานการณ์ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก เมื่อดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดวันพุธ(18พ.ค.)ที่ 31,490.07 จุด ร่วงลง 1,164.52 จุด หรือ -3.57% ถือเป็นการทรุดตัวลงแรงที่สุดในวันเดียวนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปี ปี2563  เป็นต้นมา เพราะความกังวลของนักลงทุนที่ภาวะเงินเฟ้อเริ่มส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกในสหรัฐ
 

ทาร์เก็ต ห้างค้าปลีกชื่อดังสัญชาติสหรัฐที่เอาตัวรอดมาได้ในช่วงโควิด-19 ระบาด ทั้งยังสวนกระแสด้วยการแจกโบนัสพนักงานในขณะที่ห้างอื่นซบเซา ยอมรับว่ากำไรต่อหุ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงสู่ระดับ 2.19 ดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ คือ 3.07 ดอลลาร์ เพราะผลกระทบจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ต้นทุนเชื้อเพลิง และค่าขนส่งที่สูงขึ้น ทั้งยังต้องปรับลดราคาสินค้าเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่“เจอโรม พาวเวล” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า เฟดไม่ลังเลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเท่าที่จำเป็นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ที่ตอนนี้กำลังสร้างความเดือดร้อนให้ทุกครัวเรือนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ที่ต้องแบกรับราคาอาหารที่พุ่งขึ้นอย่างมาก โดยเมื่อเปรียบเทียบราคาอาหารเดือนเม.ย. ปี 2564 ถึงเดือนเม.ย. ปี 2565 พบว่า ราคาเบคอน เพิ่มขึ้น 17.7% เนื้อวัว 14.3% ซีเรียล 12.1% ไส้กรอก 13.9% ไข่ 22.6% ไก่ 16.4% ผัก-ผลไม้ 7.8% และนม 14.7%

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำสงครามของรัสเซียในยูเครน ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบที่ขึ้นไปอยู่ที่ 114.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเมื่อเดือนม.ค. ปี 2564 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ราคาน้ำมันทั่วประเทศโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.41 ดอลลาร์ แต่บางรัฐต่ำกว่าคือ 2 ดอลลาร์ แต่พอถึงยุคประธานาธิบดีไบเดน ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วอย่างน้อย 27% และขึ้นมาตั้งแต่ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครนด้วยซ้ำ

ในส่วนของอังกฤษ ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นไม่ต่างจากสหรัฐ ผลสำรวจล่าสุด บ่งชี้ว่า ชาวอังกฤษหนึ่งในสี่ต้องใช้วิธีงดเว้นอาหารบางมื้อ หลังเจอแรงกดดันเงินเฟ้อและวิกฤติอาหารครั้งเลวร้าย ผสมผสานกับแนวโน้มน่าหวาดวิตกที่ธนาคารกลางเตือนผู้บริโภค

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี รายงานผลสำรวจล่าสุดเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (17 พ.ค.) จัดทำโดยอิพซอส และสกายนิวส์ ที่สำรวจชาวอังกฤษ 2,000 คน พบว่าประชาชนในสหราชอาณาจักรกว่าสี่ในห้ากังวลเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกขณะ จนเกรงว่าในไม่กี่เดือนข้างหน้าอาจไม่มีปัญญาหาซื้อสินค้าจำเป็นพื้นฐานอย่างอาหารและพลังงาน 89% กังวลเรื่องวิกฤติค่าครองชีพกระทบประเทศชาติโดยรวมในช่วงหกเดือนข้างหน้า 83% กังวลสถานการณ์ส่วนตัว

ในภาพกว้างทั่วประเทศเป็นไปในทำนองเดียวกัน คนที่รายได้ต่ำกังวลรุนแรงยิ่งกว่า คนที่รายได้ต่ำกว่า 20,000 ปอนด์กว่าครึ่งบอกว่า “กังวลมาก” ว่าปีนี้พวกเขาจะจบลงอย่างไร เทียบกับกลุ่มรายได้ 55,000 ปอนด์ขึ้นไป จำนวนสองในห้า รู้สึก “กังวลมาก”

ข้อค้นพบนี้เกิดขึ้นหลังจาก “แอนดรูว์ เบลีย์” ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) กล่าวกับคณะกรรมาธิการการคลัง สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันจันทร์ (16 พ.ค.) ว่า ปัญหาอาหารขาดแคลนและราคาสูงเพราะผลพวงจากสงครามในยูเครน เป็นความกังวลที่แท้จริงสำหรับอังกฤษและหลายพื้นที่ของโลก

“สถานการณ์ยังไม่แน่นอนอยู่มาก ขออภัยสำหรับช่วงเวลาของวันสิ้นโลกแต่นั่นคือความกังวลใหญ่” ผู้ว่าการฯ บีโออีกล่าว

เมื่อเดือน เม.ย. เงินเฟ้ออุปโภคบริโภคของอังกฤษทะลุ 5.9% สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปี 2554 ในภาพรวมเงินเฟ้อสหราชอาณาจักรทะยานสูงสุดในรอบ 30 ปีที่ 7% เนื่องจากราคาพลังงานพุ่งสูง เมื่อวันอังคาร (17 พ.ค.) 

 ร้านค้าปลีก “มาร์กแอนด์สเปนเซอร์” ก็เตือนว่า เงินเฟ้อราคาอาหารอาจพุ่งต่อถึง 10% ภายในสิ้นปีนี้

ความกังวลเรื่องอาหารขาดแคลนเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากสงครามในยูเครนซ้ำเติมวิกฤติซัพพลายเชนอาหารที่มีอยู่ก่อนแล้ว ยูเครนที่ถูกมองว่าเป็น “ตะกร้าขนมปังของยุโรป” ไม่สามารถส่งออกธัญพืช ปุ๋ย และน้ำมันพืชได้ ขณะเดียวกันการสู้รบที่กำลังดำเนินอยู่ก็ทำลายแหล่งเพาะปลูกและเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวตามปกติ

เอ็มเอชพี บริษัทผลิตและส่งออกไก่รายใหญ่สุดของยูเครน ทั้งยังเป็นผู้จัดหาธัญพืชและน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งเพิ่มวิกฤติการเกษตร

"จอห์น ริช" ประธานบริหารเอ็มเอชพี ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารกล่าวว่า "ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน เรามีโควิด มีสงคราม มีนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน ที่ทำให้การขนส่งสินค้าแทบเป็นไปไม่ได้เลย และยังมีโลกร้อน ซึ่งทั้งหมดกำลังเล่นงานระบบซัพพลายเชนโลกจนทำงานไม่ได้”