ส่องตลาดน้ำมันปรุงอาหารโลกหลังอินโดนีเซียห้ามส่งออก

ส่องตลาดน้ำมันปรุงอาหารโลกหลังอินโดนีเซียห้ามส่งออก

การสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียสะเทือนตลาดน้ำมันปรุงอาหารโลก ที่ปีนี้ราคาสูงเป็นประวัติการณ์ไปเรียบร้อยแล้ว ส่งเสียงเตือนไปถึงประเทศผู้นำเข้าน้ำมันปรุงอาหารรายใหญ่

น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันพืชที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดในโลก และใช้ในการผลิตสินค้าหลายชนิด เช่น บิสกิต มาการีน ผงซักฟอก และช็อกโกแลตสำนักข่าวรอยเตอร์รวบรวมข้อมูลน้ำมันปรุงอาหารสำคัญของโลก

น้ำมันปาล์ม

น้ำมันปาล์ม เป็น น้ำมันปรุงอาหารที่ผลิต บริโภค และค้าขายกันมากที่สุดในโลกนับถึงขณะนี้ คิดเป็นราว 40% ของซัพพลายน้ำมันปรุงอาหารยอดนิยมสี่ชนิด ได้แก่ น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเรพสีด (คาโนลา) และน้ำมันเมล็ดทานตะวัน

กระทรวงเกษตรสหรัฐ (ยูเอสดีเอ) คาดว่า ปีนี้จะมีการผลิตน้ำมันปาล์มราว 77 ล้านตัน

อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิต ส่งออก และบริโภคน้ำมันปาล์มรายใหญ่สุดของโลก คิดเป็นราว 60% ของอุปทานทั้งหมด ซัพพลายเออร์รายใหญ่สุดอันดับสองคือ มาเลเซีย คิดเป็นราว 25% ของอุปทานโลกอินเดียเป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มมากที่สุด ขณะที่จีน ปากีสถาน บังกลาเทศ อียิปต์ และเคนยาเป็นผู้ซื้อรายใหญ่เช่นกัน

 

 

 

 

ในแต่ละปี น้ำมันปาล์มคิดเป็น 40% ของน้ำมันพืชที่อินเดียบริโภค คาดว่าปีนี้การนำเข้าลดลงเพราะนโยบายการค้าที่เข้มงวดของอินโดนีเซีย ราคาน้ำมันปรุงอาหารสูง และปัจจัยอื่นๆ

ในปี 2563 และ 2564 การผลิตน้ำมันปาล์มทั่วโลกดิ่งหนักเพราะแรงงานข้ามชาติในสวนปาล์มลดลงทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้การเก็บผล และใส่ปุ๋ยลดลง

ก่อนหน้านี้ทางการอินโดนีเซียควบคุมการส่งออกน้ำมันปรุงอาหารระหว่างปลายเดือน ม.ค.-กลางเดือนมี.ค. เพื่อพยายามควบคุมราคาน้ำมันปรุงอาหารในประเทศ

น้ำมันถั่วเหลือง

น้ำมันถั่วเหลือง เป็น น้ำมันปรุงอาหารที่ผลิตมากที่สุดเป็นอันดับสอง ปีนี้คาดว่าผลิตได้ราว 59 ล้านตัน จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุด (15.95 ล้านตัน) ตามด้วยสหรัฐ (11.9 ล้านตัน) บราซิล (9 ล้านตัน) และอาร์เจนตินา (7.9 ล้านตัน)

ราคาน้ำมันถั่วเหลืองพุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากความกังวลที่อินโดนีเซียตัดสินใจห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม

อาร์เจนตินา ผู้ส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองอันดับหนึ่งคาดว่าปีนี้ส่งออกได้น้อยลง หลังจากฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ทำได้ไม่มาก จนต้องระงับการขายน้ำมันถั่วเหลือง และกากถั่วเหลืองระยะสั้นๆ ช่วงกลางเดือนมี.ค. ก่อนขึ้นอัตราภาษีส่งออกน้ำมันถั่วเหลือง และกากถั่วเหลืองจาก 31% เป็น 33% เพื่อลดเงินเฟ้ออาหารในประเทศ

บราซิล และสหรัฐเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับถัดมา คาดว่าสหรัฐจะเปิดพื้นที่ปลูกใหม่ในปีต่อๆ ไปเนื่องจากความต้องการแข็งแกร่งนำไปใช้ทำเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่ขีดความสามารถในการเพิ่มความต้องการในระยะสั้นมีจำกัด ส่วนอินเดียผู้นำเข้าน้ำมันถั่วเหลืองรายใหญ่สุด

น้ำมันเรพสีด

ส่วน น้ำมันเรพสีด ปีนี้คาดว่าผลิตได้ราว 29 ล้านตัน ส่วนใหญ่ในยุโรป แคนาดา และจีน โดยจีน และสหรัฐเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุด

ปี 2564 ภัยแล้งลดการเพาะปลูกคาโนลา (เรพสีดชนิดหนึ่ง) ของแคนาดา ยุโรปก็พืชผลเสียหาย ลดอุปทานน้ำมันปี 2565

สมาคมผู้แปรรูปเมล็ดพืชน้ำมันรายงานว่าปี 2564 แคนาดาส่งออกน้ำมันคาโนลาใช้ในอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงราว 75% สหรัฐส่งออก 62% จีน 25%

ส่วนผู้นำเข้าน้ำมันปรุงอาหารรายใหญ่สุดอย่างอินเดีย ปีนี้เพาะปลูกเรพสีดมากเป็นประวัติการณ์ พืชชนิดนี้ในอินเดียเรียกว่ามัสตาร์ด

น้ำมันดอกทานตะวัน

 รัสเซีย และยูเครนผลิตน้ำมันดอกทานตะวัน 55% ของโลก ส่งออก 76% ของโลก นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนในเดือนก.พ. การส่งออกจากภูมิภาคนี้ดิ่งหนัก คาดด้วยว่าผลผลิตในยูเครนสะดุดลงในปีนี้

โดยปกติจีน อินเดีย และยุโรป เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ แต่ตอนนี้ผู้ซื้อกำลังหาทางเลือกอื่นมาทดแทนอุปทานที่สูญหายไปจากทะเลดำ กว่า 90% ของน้ำมันดอกทานตะวันที่อินเดียนำเข้าปกติมาจากยูเครน และรัสเซีย ส่วนอาร์เจนตินาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่อันดับห้าของโลก

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์