จับตา Metaverse สีสันใหม่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซ

จับตา Metaverse สีสันใหม่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซ

โควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตได้แบบก้าวกระโดด และทุกวันนี้ยิ่งน่าสนใจเมื่อมี “Metaverse” เข้ามาทำให้ตลาดมีสีสันมากขึ้น

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Priceza แพลตฟอร์มที่ให้บริการค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซไทยโตเร็ว โดยเฉพาะช่วงโควิดที่เติบโตกว่า 100% ขณะที่ปีที่แล้วเติบโตกว่า 75%

ทุกวันนี้การซื้อสินค้ามีอยู่หลากหลายช่องทาง หลากหลายรูปแบบ แทรกอยู่ทุกกิจกรรมของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ วีดิโอ แชท หรือแบบออนดีมานด์ โดยความสะดวกสบาย ความหลากหลายเข้าถึงได้ง่าย และโปรโมชั่น เป็น 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดเติบโตได้ต่อเนื่อง

ที่น่าสนใจหลังจากนี้เมื่อ "Metaverse" เข้ามาจะมีการผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างบล็อกเชน คริปโทฯ เข้ามาซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงประสบการณ์ใหม่ๆ การชำระเงินรูปแบบใหม่ๆ

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2026 หรือ อีกเพียง 3 ปี ประชากรราว 25% จะใช้เวลาโดยเฉลี่ย 1 ชั่วโมงต่อวันบน Metaverse ทว่าหากจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องมีการเตรียมความพร้อมของอีโคซิสเต็ม ผ่านการพิสูจน์ตัวเองและทำให้ผู้คนเข้าถึงได้มากขึ้นเรื่อยๆ

พลิกโฉมประสบการณ์ผู้บริโภค

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ตลาดดอทคอม เล่าว่า โควิดทำให้คนทุกชนชั้นเข้ามาในออนไลน์ ยิ่งมีการสนับสนุนโดยภาครัฐอย่างโครงการคนละครึ่ง การใช้งานแอปเป๋าตัง ยิ่งทำให้คนทุกเพศทุกวัยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมีความคุ้นชินการใช้งานบริการบนดิจิทัลมากขึ้น

ที่น่าเป็นห่วงคือ ร้านค้ารายย่อย รวมถึงธุรกิจท้องถิ่นที่อาจเสียโอกาส ยอดขายลดลง ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนต้องปรับตัว ทำให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ อยู่รอดด้วยการบริการหลังการขายต่างๆ

อย่างไรก็ดี ที่น่าจับตามองคือการมาของ “Metaverse” ที่จะทำให้ประสบการณ์การซื้อสินค้าของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เพิ่มการมีส่วนร่วม แน่นอนว่าการนำเสนอสินค้าจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการขายสินค้าลักษณะเวอร์ชวลหรือ 3 มิติมาสักพักแล้ว

แต่ทั้งนี้ที่น่าสนใจคือ การที่ผู้บริโภคสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้มากขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น เกิดสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าให้ซื้อขายกันได้ ซึ่งจะมีดีมานด์และซัพพลายใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาเป็นตัวเลือก โดยตลาดจะเกิดขึ้นได้ต้องความพร้อมทั้งด้านคอนเทนท์ คอมมูนิตี้ และจากนั้นจะเกิดคอมเมิร์ซตามมา

สำหรับผู้ประกอบการหากเป็นขนาดใหญ่และสนใจสามารถเร่ิมต้นได้และควรมองไปถึงตลาดระดับโกลบอลเพราะตลาดโลคอลอาจเล็กจนเกินไป ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

ทว่าธุรกิจขนาดกลางหรือเล็กควรรอดูและประเมินสถานการณ์ดูเพื่อให้ตลาดมีการใช้งานที่แพร่หลาย ฮาร์แวร์ ซอฟต์แวร์ และคน ที่เป็นองค์ประกอบมีความพร้อม ราคาแพง ทั้งมีข้อจำกัดเรื่องมาตรฐาน การทำงานร่วมกันต่างๆ ยังไม่ลงตัว

ตีโจทย์ให้แตก เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ

กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Thailand e-Business Center เผยว่า ปฏิเสธไม่ได้การแข่งขันอีคอมเมิร์ซมีความดุเดือด เป็นเรดโอเชียนที่แข่งกันด้วยราคาและการดูแลลูกค้า ทั้งขณะนี้ยังไม่มีตัวแปรใหม่ๆ หรือ ผู้เล่นใหม่ๆ ที่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นทุกแพลตฟอร์มต้องตีโจทย์ให้แตกว่า สิ่งใดที่จะสามารถมัดใจผู้บริโภคได้ นอกจากโปรโมชั่นต้องทำให้เกิดการซื้อซ้ำ ทำให้ลูกค้าอยู่กับแพลตฟอร์มนานที่สุด เช่น การผสมผสานกลยุทธ์โดยนำเกม ความบันเทิง รวมถึงหากิมมิคต่างๆ มาเล่นตลอดเวลา

สำหรับธุรกิจที่สนใจจะเข้าสู่ Metaverse อาจต้องมีการศึกษาจากประเทศที่มีความก้าวหน้าและมีการลงทุนในด้านนี้สูงมากเช่นจีน ที่สำคัญคือการทำความเข้าใจด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาและเร่ิมต้นจะสิ่งเล็กๆ เชื่อว่าหากมีความเข้าใจที่ถูกต้องจะทำให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างถูกทาง

Newzoo ประเมินว่า ปัจจุบัน ประชากรจีนมีความพร้อมกับ Metaverse ราว 78% อเมริกา 57% ส่วนไทยเท่าที่มีการพูดคุยกันในสมาคมอีคอมเมิร์ซคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 10-20% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่เล่นเกม