‘สกมช.’ เร่งยกระดับ ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ‘ธุรกิจ' ลุยลงทุน

‘สกมช.’ เร่งยกระดับ ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ‘ธุรกิจ' ลุยลงทุน

สกมช. หนุนหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ทำระบบไซเบอร์ซิเคียวริตีตามมาตรฐานขั้นต่ำ เพิ่มโมเมนตัมลงทุนซิเคียวริตี้ในไทย เพิ่มขีดความสามารถ รับมือ ลดเสี่ยงจากภัยคุกคาม ด้าน “บลูบิค” ลุยลงทุนธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี้เต็มตัว เปิดบริษัทใหม่บลูบิค ไททันส์ 1 ก.ย.นี้

พล.อ.ต.อมร ชมเชย รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กำลังเร่งขับเคลื่อนให้องค์กรในประเทศไทยยกระดับมาตรฐานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ให้สอดคล้องไปกับแนวทางของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562

ทั้งนี้ โดยเฉพาะหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หรือ CII (Critical Information Infrastructure) ตามประกาศของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้ ซึ่ง สกมช.กำหนดไว้ 7 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคงภาครัฐ ด้านบริการภาครัฐที่สำคัญ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค และด้านสาธารณสุข

พร้อมกันนี้ บังคับใช้กฎหมายลูกอีก 12 ฉบับ จากปัจจุบัน 29 ฉบับ ขณะเดียวกัน จะเร่งผลักดันให้ให้เกิดการบังคับใช้แบบเชิงบวก ทำให้องค์กรต่างๆ มีแรงจูงใจในการจัดทำมาตรฐานมากขึ้น

สกมช.ตั้งเป้าไว้ว่า จากปัจจุบันมี CII จำนวน 60 องค์กร จะเพิ่มให้เป็น 120 องค์กรภายในปี 2566 การดำเนินงานมุ่งขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมและเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลมากขึ้น

 

เพิ่มโมเมนตัม ‘ลงทุนซิเคียวริตี้’

ล่าสุด สกมช. มอบรางวัล “Prime Minister Awards : Thailand Cybersecurity Excellence Awards 2022” ให้กับหน่วยงานที่มีผลงานด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ซึ่งจากหน่วยงานที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 133 หน่วยงาน มีหน่วยงานที่ผ่านการประเมินและได้รับรางวัล 34 หน่วยงาน

สำหรับ ปีหน้าจะทำงานอย่างเข้มข้นมากขึ้น ทั้งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มโมเมนตัมการลงทุนด้านซิเคียวริตี้ในประเทศไทยที่ขาดไม่ได้คือการให้ความรู้และเพิ่มการรับรู้กับผู้บริหารระดับสูงว่าซิเคียวริตี้ไม่ใช่แค่ปัญหาด้านไอทีซึ่งทุกคนต้องเข้ามาร่วมมือกันเพื่อสร้างความสำเร็จ สอดคล้องไปกับพีดีพีเอ (PDPA)

ปรับมายเซ็ต รับมือความเสี่ยง

นายปริญญา หอมเอนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กมช. กล่าวว่า โดยภาพรวมขณะนี้หน่วยงานในประเทศไทยมีการตระหนักเรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตีเพิ่มมากขึ้นแล้วตามลำดับ ที่สำคัญคือ การปรับเปลี่ยนมายเซ็ตเรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตี้ พร้อมให้ความสำคัญกับทั้งเรื่องของ คน กระบวนการ เทคโนโลยี และที่สำคัญที่สุดผู้บริหารระดับสูงในองค์กรต้องให้ความสำคัญด้วย

สำหรับสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินต่อไปคือ การพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องภัยไซเบอร์ต่างๆ ที่ยังคงทวีความรุนแรง

สานแผนดันไทย ‘ดิจิทัลฮับ’เอเชียแปซิฟิก

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับรางวัลดังกล่าวในปีนี้ เผยว่า หัวเว่ยให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนในระยะยาวของประเทศไทย ขณะนี้ยังคงร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการก้าวไปสู่ประเทศแถวหน้าของยุคดิจิทัล

ขณะเดียวกัน รับประกันระดับการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ควบคู่ไปกับช่วยยกระดับความตระหนักรู้และแบ่งปันแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดีที่สุด รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ผ่านโครงการต่างๆ

อย่างไรก็ดี เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย “Grow in Thailand, Contribute to Thailand” จะพยายามอย่างเต็มที่และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อช่วยให้ประเทศไทย ก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 และกลายเป็น “secure digital hub” หรือ ศูนย์กลางดิจิทัลที่ปลอดภัยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับ สกมช. เพื่อพัฒนาและเร่งทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับบุคลากรไอทีของไทย โดยกำลังดำเนินการตามแผนเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมอย่างน้อย 4,000 คน ในระยะเวลา 3 ปี ได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ภาคปฏิบัติผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ e-Lab ของหัวเว่ย ที่มีโครงสร้างพื้นฐานและเวิร์กช็อปการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สามารถลงมือปฏิบัติได้จริง ครอบคลุมระดับแรงงานในโลกไซเบอร์ 4 ระดับ ได้แก่ ระดับพื้นฐาน ระดับกลาง ระดับสูง และระดับผู้เชี่ยวชาญ

ล่าสุด หัวเว่ย ประเทศไทย ได้รับรางวัล “บริษัทที่ให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศดีเด่น” รางวัลดังกล่าวสะท้อนถึงความมุ่งมั่นด้านความเป็นเลิศ นวัตกรรม และความเป็นผู้นำในการสนับสนุนด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของหัวเว่ย ประเทศไทย ด้านการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องข้อมูลทั่วประเทศ

‘บลูบิค’ลุยธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี้เต็มตัว

ขณะที่ บริษัทชั้นนำด้านที่ปรึกษาครบวงจรในไทย ก็หันมาโฟกัสเรื่อง “ไซเบอร์ซิเคียวริตี้” มากขึ้น ด้วยเป็นเทรนด์สำคัญของโลก เท่าๆ กับแผนการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นขององค์กร ล่าสุดบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ที่ปรึกษาด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร​์เมชั่น ได้แตกบริษัทใหม่เพื่อรุกด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้อย่างเต็มตัว

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญของบริษัทฯ เพราะบลูบิคเตรียมขยายธุรกิจใหม่ๆ ผ่านการควบรวมกิจการ กิจการร่วมค้า และการลงทุนเปิดบริษัทย่อยเพิ่มเติม เพื่อเสริมแกร่งให้กับบริษัทฯ ในทุกมิติ ดังนั้นการเติบโตของบริษัทฯ นับจากนี้จะเป็นไปอย่างก้าวกระโดด และน่าสนใจมากขึ้น

โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกทั้งการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันนั้นต้องทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จึงทำให้มีความต้องการจากตลาดอยู่ตลอดเวลา เพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ทันกับการแข่งขัน

ล่าสุดคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้ลงทุนในบริษัทย่อยอีก 3 แห่ง โดยหนึ่งในนั้น คือ บริษัท บลูบิค ไททันส์ จำกัดเพื่อดำเนินธุรกิจด้านพัฒนาระบบและให้คำปรึกษาด้านความปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security and Solution Implementation Services) และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยมองว่า ธุรกิจด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ จะเป็นอีกหนึ่งในธุรกิจหลักที่ บลูบิค มองเห็นถึงโอกาสใหม่ ซึ่งไซเบอร์ซิเคียวริตี้ มีความสำคัญเทียบเท่ากับการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่องค์กรธุรกิจต้องตระหนัก  ซึ่งบริษัทใหม่ บลูบิค ไททันส์ จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมแถลงแผนธุรกิจวันที่ 1 ก.ย.นี้