‘บอร์ดกสทช.' ถกลงมติปิดดีลทรูดีแทค จ่อใช้ยาแรงออก ‘มาตรการเฉพาะ’ คุม

‘บอร์ดกสทช.' ถกลงมติปิดดีลทรูดีแทค จ่อใช้ยาแรงออก ‘มาตรการเฉพาะ’ คุม

เปิดวาระประชุมบอร์ด กสทช.วันนี้ ลุยพิจารณากรอบเวลา “ดีลควบทรู ดีแทค” หลังต้องการความชัดเจนจะให้เวลานานเท่าใด ล่าสุด “กฤษฏีกา” ตอบหนังสือชัด ย้ำ “กสทช.” มีเครื่องมือใช้พิจารณาดีลอยู่แล้ว เชื่อบอร์ดรอดูท่าที ก่อนสั่งสำนักงานฯ ยกร่าง “มาตรการเฉพาะคุมการรวมธุรกิจ”

ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (10 ส.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) มีวาระการพิจารณาประเด็นการควบรวมธุรกิจ ระหว่างบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)

ประเด็นการควบรวมธุรกิจ กำหนดเป็นระเบียบวาระที่ 5 เรื่องเพื่อพิจารณา กำหนดเวลาและวิธีการลงมติการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค โดยมีข้อเสนอเพื่อพิจารณากำหนดเวลา และวิธีการลงมติการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 บอร์ด มีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปดำเนินการรวบรมและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์เพิ่มเดิม

เนื่องจากข้อมูลที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอมายังไม่ครบถ้วนและรอบด้านเพียงพอ ยังขาดข้อมูลสำคัญในหลายประเด็นเพื่อประกอบการพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆ และเพื่อนำไปสู่มาตรการในการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเป็นการป้องกันผลกระทบ และความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตลาดและอุตสาหกรรมตลอดจนประชาชนผู้ใช้บริการ

ขณะที่ วาระสำคัญ ที่จะต้องถกหารือกันในวันนี้ คือ กรอบเวลาการพิจารณา โดยปัจจุบัน กสทช.ยังไม่ได้มีพิจารณากำหนดเวลา และวิธีการลงมติการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคที่ชัดเจน ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะ ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 แจ้งผลพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ซึ่งมีความเห็นว่าประเด็นที่สำนักงาน กสทช. หารือ เป็นกรณีที่อยู่ในความสนใจสาธารณะ

ทั้งเห็นว่า ประเด็นที่สำนักงาน กสทช. หารือ เป็นกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสทช.โดยเฉพาะ รวมทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ที่เป็นเครื่องมือของ กสทช. ในการพิจารณาดำเนินการมีการฟ้องร้องเพิกถอนอยู่ในศาลปกครอง ซึ่งกรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็น รวมถึง ความไม่ชัดเจนว่า การรายงานของทรูและดีแทคถือเป็นการดำเนินการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ฉบับลงราชกิจจานุเบกษา 19 มกราคม 2561 และถือว่าได้รับอนุญาตแล้วหรือไม่ ตามข้อ 6 ของประกาศฯ ฉบับดังกล่าว อาจส่งผลให้ กสทช. ไม่อาจอธิบาย และไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล ด้วยเหตุที่ ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศของ กสทช.

เร่งหาเดดไลน์กรอบพิจารณา

แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช.ระบุว่า การประชุมวันนี้ เป็นเพราะมีกรรมการ กสทช.บางท่านต้องการทราบกรอบเวลาในการดำเนินการเรื่องนี้ให้แน่ชัดว่า จะต้องให้แล้วเสร็จภายในเมื่อไรอย่างไร และกระบวนการทำงานของตัวสำนักงาน กสทช.ที่ต้องรวบรวมผลสรุปการรวมธุรกิจจากอนุกรรมการทั้ง 4 คณะที่ได้สั่งให้ไปแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหารายละเอียดนั้น จะครบถ้วนเมื่อใด และหากกรรมการ กสทช.บางคนเห็นว่า ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอต่อการลงมติอีก จำเป็นต้องมีการสั่งให้ไปเพิ่มเติมเนื้อหาตรงส่วนใดอีกบ้าง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังต้องมีการหารือในประเด็นวาระข้อที่ 3.2 ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) โดยเห็นว่า ประเด็นที่สำนักงาน กสทช. ขอหารือ เกี่ยวกับอำนาจของ กสทช.ในการพิจารณาการขอรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค เป็นกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสทช. โดยเฉพาะ

รวมทั้ง ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ที่เป็นเครื่องมือของ กสทช. ในการพิจารณาดำเนินการ อีกทั้งยังมีการฟ้องร้องเพิกถอนอยู่ในศาลปกครอง ซึ่งกรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็น โดยหนังสือที่ตอบกลับมานี้ ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า กสทช.มีอำนาจในการพิจารณาการขอควบรวมธุรกิจว่าจะพิจารณาว่าจะให้เอกชนควบรวมหรือไม่

เล็งยกร่างฯมาตรการเฉพาะ

แหล่งข่าวจาก กสทช. เปิดเผยอีกว่า ในประเด็นการขอควบรวมนั้น หากในท้ายที่สุดมีการอนุญาตให้ควบรวมกิจการ บอร์ด กสทช.จำเป็นต้องเขียนมาตรการเฉพาะ เพื่อกำหนดเป็นเงื่อนไขในการควบรวมกิจการ ซึ่งบอร์ดมีความกังวลในแง่ของการพิจารณา เพราะไม่อยากตกเป็นจำเลยสังคมในประเด็นที่เอื้อเอกชน

ดังนั้น การกำหนดมาตรการเฉพาะ จำเป็นต้องใช้ยาแรง ซึ่งหากพิจารณาจากกรณีศึกษาในต่างประเทศ ก็มีทั้งหากอนุญาตให้ควบรวม ก็จำเป็นต้องให้เอกชนที่ขอควบรวมขายคืนคลื่นความถี่ออกมา 50-100 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อจำกัดขนาดของบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากการควบรวม ไม่ให้มีขนาดที่ใหญ่เกินไป หรืออาจกำหนดให้ควบรวมธุรกิจเฉพาะบริษัทแม่ส่วนบริษัทลูกห้ามดำเนินการเด็ดขาด

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการยกร่างฯ มาตรการเฉพาะดังกล่าวนี้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว คืออำนาจของบอร์ด แต่บอร์ดอาจจะสั่งให้สำนักงาน กสทช.หรือว่าจ้างที่ปรึกษาภายนอกเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งการกำหนดมาตรการเฉพาะค่อนข้างเป็นเรื่องที่ยาก เพราะหากมีการกำหนดให้เอกชนขายคืนคลื่นความถี่มา ประเด็นอยู่ที่ว่าแล้วใครจะเป็นผู้มาประมูลเพราะในประเทศไทย ก็มีผู้เล่นในตลาดเพียง 3 ราย ซึ่งก็เหลือเพียง เอไอเอส แต่เอไอเอสไม่มีสิทธิที่จะเข้าประมูลได้อยู่แล้ว หรือถ้าหากกสทช.พิจารณาเก็บคลื่นไว้ ก็จะเป็นการใช้ทรัพยากรไม่เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้น ในประเด็นนี้จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบให้มากที่สุด