สอวช. ตั้งเป้าสร้าง “ธุรกิจนวัตกรรม” 1,000 ราย 1,000 ล้านบาท

สอวช. ตั้งเป้าสร้าง “ธุรกิจนวัตกรรม” 1,000 ราย 1,000 ล้านบาท

สอวช. ตั้งเป้าสร้าง “ธุรกิจนวัตกรรม” กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศเฉลี่ย 1,000 ราย 1,000 ล้านบาท 
ปั๊มรายได้ 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดสัมมนา "ปลดล็อกมหา'ลัย ขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมไทย สู่เป้าหมาย 1,000 x 1,000 ร่วมสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท"

ในงานมีผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ นักวิจัย บุคลากรมหาวิทยาลัย ตลอดจนผู้สนใจที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานกว่า 200 คน

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.เป็นประธานเปิดการสัมมนาและบรรยายในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมไทย” นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายราเมศวร์ ศิลปพรหม CEO บริษัท CU Enterprise จำกัด

มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ในฐานะตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมและการจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนหรือ Holding company

สอวช. ตั้งเป้าสร้าง “ธุรกิจนวัตกรรม” 1,000 ราย 1,000 ล้านบาท

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า สอวช. มีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ “ธุรกิจนวัตกรรม” Innovation Driven Enterprise หรือ IDE ผ่านการปลดล็อกอุปสรรค และการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

เพื่อผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และได้วางเป้าหมายที่จะสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่มีมูลค่าเฉลี่ย 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย หรือมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570

ที่ผ่านมา สอวช. ได้สนับสนุนทางการเงิน บุคลากร ที่ปรึกษา ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาครัฐ รวมไปถึงกฎระเบียบที่จะเข้ามาช่วยปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ และได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการให้ทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)

ผ่านการจัดตั้ง กองทุน ววน. จัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุน และมีการออกระเบียบสภานโยบายว่าด้วยการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชน เพื่อให้ภาครัฐสามารถให้ทุนโดยตรงแก่ภาคเอกชนได้

ภายใต้แนวทางและกระบวนการที่มีความชัดเจน ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้การให้ทุนด้าน ววน. มีความครอบคลุม สามารถตอบเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศได้

นอกจากนี้ สอวช. ร่วมกับภาคมหาวิทยาลัย จัดทำหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยยังคงยึดหลักเปิดเผย โปร่งใส และมีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม

และยังได้ออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 กำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถขอเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นได้ ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและการนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์

ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวอีกว่า สอวช. มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการร่วมลงทุนผ่านกลไกการจัดตั้ง Holding Company ซึ่งจะเป็นบริษัทนิติบุคคลที่เข้ามาทำการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมในรูปแบบที่มีความคล่องตัวและเป็นมืออาชีพ

โดยได้จัดทำแนวทางปฏิบัติหรือ Guideline รวมไปถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนฯ ในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างความชัดเจนในส่วนนี้ โดยจะเป็นการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยสามารถร่วมลงทุนและสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมด้วยทรัพยากรของตนเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

และยังได้ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สนับสนุนให้มีหน่วยงานตัวกลาง เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับผู้ให้บริการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ iBDS (Innovation Business Development Service) ซึ่งที่ปรึกษาเหล่านี้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านนวัตกรรมของธุรกิจได้อย่างตรงจุด

สอวช. ตั้งเป้าสร้าง “ธุรกิจนวัตกรรม” 1,000 ราย 1,000 ล้านบาท

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายในหัวข้อ “อุทยานวิทยาศาสตร์ กับหุบเขาแห่งความท้าทาย Valley of Challenge” โดยระบุว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ คือพลังของมหาวิทยาลัยในภูมิภาค เป็นนิคมธุรกิจวิทยาศาสตร์ สร้างธุรกิจนวัตกรรม สตาร์ทอัพ เพื่อทำให้งานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคตั้งแต่ปี 2556 – 2565 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีจำนวนผู้ประกอบการที่ให้บริการ 12,384 ราย ผู้ประกอบการเทคโนโลยี 1,123 ราย สร้างฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ 58,038 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 54,294 คน

นอกจากนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ ยังสร้างคนให้เป็นเจ้าของกิจการ สนับสนุนนักศึกษาให้เป็นเจ้าของกิจการ พัฒนาผู้ประกอบการเป็น IDE และพัฒนานักวิจัยและนวัตกร

ม.เชียงใหม่ ให้ความสำคัญกับการเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างผู้ประกอบการ เนื่องจากทักษะของผู้ประกอบการจำเป็นต่อทักษะในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ Tech Spin-off จาก มช. เกิดการจ้างงานทักษะสูงในพื้นที่มากขึ้น

และที่สำคัญเป็นเครื่องมือช่วยเร่งการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นได้ นอกจากนี้ยังเร่งผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการระดับโพนี่ (Pony) คือมีรายได้ 300 ล้าน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ในเกณฑ์หลายราย   

สอวช. ตั้งเป้าสร้าง “ธุรกิจนวัตกรรม” 1,000 ราย 1,000 ล้านบาท

ด้านนายราเมศวร์ ศิลปพรหม CEO บริษัท CU Enterprise จำกัด บรรยายในหัวข้อ “ปั้นงานวิจัยสู่ธุรกิจนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” โดยระบุว่า เป้าหมายของ CU Enterprise คือสร้างรายได้จากธุรกิจนวัตกรรมให้ได้  50,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่ออาจารย์ มหาวิทยาลัย และประเทศชาติ

โดยอาจารย์สามารถใช้ Spin-off เป็น แพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำสอนนิสิตยุคใหม่ สร้างผลลัพธ์เชิงประจักษ์จากผลงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้ มีผลกระทบต่อสังคม และมีทุนวิจัยต่อเนื่อง

ส่วนมหาวิทยาลัยก็สามารถเพิ่มขีดความสามารถด้านวิชาการ การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมและประเทศ และจะทำให้มีนักวิจัยเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้หาก Spin-off สำเร็จจะมีเงินวิจัยปีละ 5,000 ล้านบาทต่อเนื่องโดยไม่ต้องใช้งบของมหาวิทยาลัย ในส่วนของประเทศก็จะสามารถยกระดับพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

ในงานยังมีการจัดเวทีเสวนาเชิงซักถามในหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมการจัดตั้ง University Holding Company ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” เพื่อเป็นเวทีในการไขข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมายหรือระเบียบที่ สอวช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปลดล็อกข้อจำกัดในการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรม

รวมถึงแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานใน Holding Company ที่ได้รับการสนับสนุนจากการสร้างระบบบนิเวศนวัตกรรมข้างต้นด้วย.