นวัตกรรมพลิกโฉมวงการอุตสาหกรรมเกษตรไทย

นวัตกรรมพลิกโฉมวงการอุตสาหกรรมเกษตรไทย

จากเกษตรกร สู่ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร และปัจจุบันเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมทางการเกษตรที่ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของ อเมริกา ยุโรป จีน และอาเซียน ที่จะมาพลิกโฉมวงการเกษตรไทยในอนาคต

จุดเริ่มต้นมาจาก คุณภากร โฆสนสิทธิวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เค.เอส.พรีเมียร์โปรดักส์ จำกัด ผู้มากประสบการณ์ ในวงการเกษตรมากว่า 30 ปี ตั้งแต่การเป็นผู้ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง ผันมาเป็นผู้ส่งออก

โดยการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร ก่อนที่จะส่งไปยังประเทศต่างๆ ก็ได้พบอุปสรรคในหลายขั้นตอน ด้วยคุณภาพสินค้าและการรวบรวมผลผลิตการเกษตร เช่น ข้าวโพดและมันเส้นเพื่อส่งออกจะต้องตากให้แห้งเสียก่อน

โดยตากกับลานพื้นปูน ใช้ระยะเวลา 4-5 วัน ซึ่งเลี่ยงไม่ได้กับปัญหาการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม ทั้งดินและฝุ่น หรือจากมูลสัตว์อย่างเช่น สุนัข นก ทำให้โดนร้องเรียนจากลูกค้าเรื่องของความสะอาด

แม้ในภายหลังจะมีการซื้อเครื่องอบข้าวโพด ที่มีระบบการอบแบบอเมริกามาช่วยในการดำเนินธุรกิจ แต่ก็ยังมีปัญหาการใช้งานได้ เช่น ความชื้นของวัตถุดิบที่ไม่ความสม่ำเสมอและ ต้นทุนอบแห้งที่ยังสูง และจะต้องรวบรวมสินค้าปริมาณมากกว่า100 ตัน จึงจะอบแห้งได้

นอกจากนี้ยังมีขนาดเครื่องอบที่ใหญ่มาก ต้องวางรากฐานตอกเสาเข็ม ใช้ต้นทุนสูง คุณภากรเล็งเห็นว่า นวัตกรรมและงานวิจัยของไทยเรา สามารถนำมาต่อยอดในจุดนี้ได้ จนปัจจุบันได้เป็นนวัตกรรมที่ได้รับสิทธิบัตร คือ เครื่องอบแห้ง“CAPSULE DRYER”

ห้องอบถูกออกแบบเป็น CAPSULE ทำให้สามารถกำหนดวิธีอบแห้งได้ตามลักษณะของวัตถุดิบ ระบบอบแห้งได้อย่างรวดเร็ว ลดเวลาอบสินค้าลงจากปกติ 13-15 ชม.เหลือเพียง 2-3 ชม.

ทั้งช่วยลดต้นทุนประหยัดเชื้อเพลิงโดยการ Return ลมร้อนกลับมาใช้ใหม่ได้ และยังสามารถเคลื่อนย้ายการติดตั้งเครื่องอบได้ ไม่ต้องตอกเสาเข็มหรือทำรากฐานปูนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมากและยังอบสินค้าหลากหลายชนิดได้ในเครื่องเดียวเช่น มันสำปะหลัง ปุ๋ย  ธัญพืช ปาล์ม กากแป้ง

อีกเครื่องมือหนึ่งคือ นวัตกรรมเตาผลิตแก๊ส “BIOMASS BURNER” ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลได้หลากหลาย เช่น ไม้ชิพ ไม้อัดเม็ด ซังข้าวโพด ซึ่งเป็นส่วนช่วยประหยัดพลังงานและลดการนำเข้าพลัง สามารถนำไม้ท้องที่มาทำเป็น แก๊สพลังงานที่สะอาดไม่สร้างมลสภาวะ

ใช้เวลาในการผลิตแก๊สเชื้อเพลิงเพียงครึ่งชั่วโมง ต่างจากแก๊สที่หมักจากมูลสัตว์หรือน้ำเสียที่ใช้เวลาหลายวันหรือเป็นเดือน รวมไปถึงช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรท้องถิ่นได้ จากไม้ที่เกษตรปลูกและยังได้พลังงานสะอาดไม่สร้างมลภาวะทางอากาศ

นวัตกรรมพลิกโฉมวงการอุตสาหกรรมเกษตรไทย

ภากร โฆสนสิทธิวิทย์

“นวัตกรรม..เป็นงานที่มีเสน่ห์ มีเรื่องอะไรใหม่ๆให้เราได้คิด..ได้วิเคราะห์ตลอดเวลา”

  คุณภากรใช้เวลา 10 กว่าปีในการค้นคว้า ทดลอง วิจัยพัฒนาเครื่องอบแห้งและเตาผลิตแก๊สมาอย่างต่อเนื่อง โดยพลิกวิกฤตช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2554 ที่ภาคเกษตรเสียหายและหยุดชะงัก คุณภากรเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเริ่มต้นวิจัยเครื่องอบและเตาพลังงานว่า

“ด้วยความที่เป็นงานใหม่ ไม่มีความรู้เรื่องช่าง วิศวกร ไม่เคยทำงานวิจัยเพียงแต่มี pain point ที่ค้างอยู่ในใจ เป็นแรงขับเคลื่อน จึงต้องหาความรู้จากอินเทอร์เน็ต จากการอ่าน รวมถึงไปหาผู้รู้ หาความรู้งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ นี่เป็นอุปสรรคหลัก

เรื่องที่สองคือเงินทุน จะต้องใช้เงินทุนของตัวเองในการร่วมงานกับมหาวิทยาลัยเพื่อให้นักวิชาการทำการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ อุปสรรคที่สาม เรื่องช่างฝีมือ ที่ยังขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ จะต้องคอยที่ตั้งเป้าหมายให้เขาทำงาน”

  “หลังจากที่ได้เข้ามาทำงานวิจัย พบว่างานวิจัยหรืองานนวัตกรรมเป็นเรื่องที่มีเสน่ห์และน่าหลงไหลมาก"

"อยากให้ประเทศไทยเราสามารถสร้างบุคคลากร สร้างระบบการศึกษา ที่สามารถนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ได้จริง อยากให้ภาครัฐสนับสนุน หรือมีทิศทางที่ชัดเจน เป็นแรงขับเคลื่อนสติปัญญาของคนไทย”

ช่วงวิกฤตโควิด19 เกือบถอดใจ

  วิกฤตโควิด 19 ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจในหลายๆด้าน เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี รวมถึงคุณภากรที่ได้รับผลกระทบนี้ และเตรียมจะยุติโครงการ ด้วยเงินทุนในงานวิจัย และค่าแรงช่าง แต่ประจวบเหมาะได้รับการสนับสนุนสร้างเครื่องต้นแบบจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จึงเข้าร่วมโครงการ“นวัตกรรมดีไม่มี..ดอกเบี้ย”

อีกทั้งหลังจากเปิดเผยนวัตกรรมกับผู้ประกอบการทางการเกษตร ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงดำเนินการต่อจวบจนปัจจุบันนี้เริ่มสร้างเครื่องต้นแบบ ที่สามารถตอบโจทย์ pain point ทั้งหมด

“แก้ปัญหาที่เจอกันมา 100 ปี ได้หมดเลย ทั้งมีประสิทธิภาพ และต้นทุนต่ำ”คุณภากรกล่าวอย่างภาคภูมิใจ

“ทั้งนี้การมี Partner ที่ดีอย่างธนาคารไทยพาณิชย์เป็นส่วนสำคัญที่สุด ให้ สนับสนุนเรื่องการเงิน นอกจากนี้ยังสนับสนุนข้อมูลในการวิเคราะห์เชิงธุรกิจอย่างต่อเนื่อง”

พลิกโฉมวงการเกษตร

“นวัตกรรมตัวนี้คิดว่าจะใช้ได้ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีการใช้พื้นที่ทำลานตากข้าวโพดและมันเส้นไร่นับแสนไร่ อายุของลานปูอยู่ได้ประมาณ 2-3 ปี จะต้องเทพื้นใหม่

ซึ่งเครื่องอบแห้งนี้สามารถทดแทนพื้นที่ได้ประมาณ 50 ไร่ ช่วยยกระดับเรื่องของอุตสาหกรรมภาคเกษตรเราได้ มีความสะอาดมีมาตรฐานการผลิตมากยิ่งขึ้น และสามารถส่งออกกลุ่มประเทศพัฒนาได้เช่น ยุโรป”

ในอนาคตอยากปรับปรุงเครื่องให้มีขนาดที่เหมาะสำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิต เช่น สหกรณ์ และองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด จะได้ช่วยเหลือเกษตรกรท้องถิ่นอย่างครบวงจร ทั้งเครื่องอบแห้ง และเตาพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงที่ผลิตเองในท้องถิ่น

รวมถึงในอนาคตอาจนำมาใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ และที่สำคัญคือ เป็นพลังงานสะอาด ไม่มี PM 2.5 ไม่มีฝุ่นไม่มีเขม่า จึงมองว่าอนาคตนวัตกรรมทั้งสองเครื่องนี้จะมีบทบาททางสังคมเป็นอย่างมาก ช่วยให้รากฐานของประเทศ และรากฐานของเกษตรให้มีความยั่งยืนอย่างครบวงจร.