“สามพราน” พัฒนาสู่ “สมาร์ทซิตี้” เมืองอัจฉริยะด้านความปลอดภัย

“สามพราน” พัฒนาสู่ “สมาร์ทซิตี้” เมืองอัจฉริยะด้านความปลอดภัย

จังหวัดนครปฐม นำร่องพัฒนาเขตพื้นที่อำเภอสามพราน เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้านความปลอดภัย ปัจจุบันมีความพร้อมในการยกระดับให้มีความทันสมัย และกลายเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน

จังหวัดนครปฐม เมืองปริมณฑลกรุงเทพฯ เมืองนี้มีความน่าสนใจมากกว่าเป็นเมืองกิน เที่ยว ช้อป เมืองประวัติศาสตร์ และการศึกษา เพราะปัจจุบันได้กำหนดแผนการพัฒนาเมืองภายใต้ยุทธศาสตร์จังหวัดให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เน้นด้านการขนส่ง

ควบคู่ไปกับการเป็นเมืองหลวงแห่งอาหารและการท่องเที่ยว และเมืองแห่งสุขภาพ เพื่อรองรับการเติบโต และการเข้าสูงสังคมสูงวัยของประเทศไทย พร้อมทั้งนำร่องพัฒนาอำเภอสามพรานให้เป็นเมืองอัจฉริยะ

การพัฒนาสามพรานให้เป็นเมืองอัจฉริยะนั้น เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เทศบาลเมืองสามพราน ได้นัดประชุมหน่วยงานพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนแผนการพัฒนา “สามพรานเมืองอัจฉริยะน่าอยู่อย่างยั่งยืน” หรือ Samphran Smart City

 

โดยกำหนดแผนงานการพัฒนาให้ตรงองค์ประกอบของการยกระดับเมืองสู่การเป็น Smart City ซึ่งมีมิติที่สำคัญ 7 ด้าน นั่นคือ

1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) 2. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) 3. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) 4. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) 5. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) 6. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) และ 7. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)

“สามพราน” พัฒนาสู่ “สมาร์ทซิตี้” เมืองอัจฉริยะด้านความปลอดภัย

ธรรมศักธ์ จิระวิทยพงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองสามพราน เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทศบาลเมืองสามพราน มีการจัดทำแผนการพัฒนาสามพรานเมืองอัจฉริยะน่าอยู่อย่างยั่งยืน (Samphran Smart City) ในปี 2567 เสร็จสิ้นแล้ว

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนการทำงาน โดยเตรียมใช้เงินสะสมของเทศบาลเมืองสามพรานเป็นเงินประเดิม

ซึ่งตามแผนจะเน้นไปที่การพัฒนาเมืองสามพรานให้เป็นเมืองอัจฉริยะด้านความปลอดภัย เพราะพื้นที่ของสามพราน เป็นเมืองที่มีคนเดินทางผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก

ตามแผนการดำเนินงาน หลังจากได้ทำความเข้าใจในหลักการของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะไปแล้ว จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมารองรับงานด้านการดูแลความปลอดภัยของเมืองก่อน

เช่น การติดกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมจากที่มีอยู่บนเส้นทางสายหลักและสายรอง ซึ่งกล้องวงจรปิดจะมีเทคโนโลยีพิเศษที่สามารถตรวจจับใบหน้า จับทะเบียนรถยนต์ หรือ การนับจำนวนรถที่ผ่านมาในเขตเทศบาลเมืองแบบเรียลไทม์

“สามพราน” พัฒนาสู่ “สมาร์ทซิตี้” เมืองอัจฉริยะด้านความปลอดภัย

ซึ่งทั้งหมดนั้น จะช่วยเสริมมิติด้านความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของคนในพื้นที่ได้อีกมาก เช่นเดียวกับการจัดทำข้อมูลเมือง เพราะในปัจจุบันเองเทศบาลเมืองสามพราน ยังไม่มีข้อมูลพื้นฐานด้านต่าง ๆ มารวมไว้ในที่เดียวกันอย่างเป็นระบบ

เพื่อทำให้การบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ ง่ายขึ้น ทั้งข้อมูลประชากร ข้อมูลพื้นที่ หรือข้อมูลด้านสวัสดิการของประชากรในพื้นที่

โดยตามแผนได้มีการหารือกันว่าเรื่องการจัดการระบบข้อมูลของเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเร็ว ๆ นี้ จะมีการจัดทำแพลตฟอร์มของฐานข้อมูลเมืองขึ้น เพื่อเก็บรวบรวมไว้ในรูปแบบของดิจิทัล แทนการเก็บข้อมูลเดิมที่ส่วนใหญ่จะเก็บไว้ในเอกสารเท่านั้น

ธรรมศักธ์ กล่าวว่า ภายใต้แผนการทำงานในปีหน้า เทศบาลเมืองสามพราน ยังมีแผนการทำงานหลายเรื่อง เพื่อยกระดับเมืองให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น เช่น การเตรียมความพร้อมนำเทคโนโลยีตรวจจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มาใช้ในพื้นที่ เพื่อติดตามพื้นที่เฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 และแจ้งเตือนประชาชน

รวมไปถึงเรื่องการทำพลังงานสะอาด รองรับความต้องการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา

พร้อมกันนี้ยังเตรียมพัฒนาระบบแจ้งเตือน หรือแจ้งข่าวสารต่าง ๆ ของประชาชนในพื้นที่ผ่านแอปพลิเคชัน LINE OA ก่อนจะส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ดำเนินการแก้ไขทันที

“สามพราน” พัฒนาสู่ “สมาร์ทซิตี้” เมืองอัจฉริยะด้านความปลอดภัย

ระบบแอปพลิเคชัน LINE OA ถือเป็นระบบที่ใช้งานง่าย และเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้สะดวกที่สุด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาโดยเฉพาะเรื่องการร้องเรียน และการร้องทุกข์ได้สะดวกมากขึ้น จากเดิมที่ต้องไปร้องทุกข์กับผู้นำชุมชนเท่านั้น

อีกเรื่องสำคัญที่จะพัฒนาเมืองสามพรานให้เป็นสมาร์ทซิตี้ได้ นั่นคือการพัฒนาช่องทางการบริการสาธารณะของหน่วยงานราชการให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น

เช่น การจัดทำแผนที่ภาษี โดยสำรวจพื้นที่ผ่านโดรนสำรวจข้อมูลเป็นรายแปลงทุกพื้นที่ก่อนจะจัดเก็บข้อมูลมาดูว่า พื้นที่ใดเป็นบ้านเรือน หรือพื้นที่เกษตร หรือพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เพื่อจะได้มีการประเมินภาษีได้อย่างถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ เช่นเดียวกับการสร้างช่องทางบริการจ่ายภาษีผ่านออนไลน์ด้วย

นายกเทศมนตรีเมืองสามพราน กล่าวอีกว่า การนำระบบดิจิทัลมาใช้นั้น นับเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะในมิติการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ หรือ Smart Governance เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่าย ลดขั้นตอน และต้นทุนต่าง ๆ ได้มาก ที่สำคัญทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกจากการบริการที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

ส่วนการจัดงาน Thailand Smart City นั้น ทางเทศบาลเมืองสามพราน เห็นว่างานนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเมืองต่าง ๆ ที่ต้องการหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการเมืองของตัวเองได้ดี

“ที่ผ่านมาได้เขาร่วมงาน Thailand Smart City ซึ่งจัดโดยบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (NCC) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ทำให้ได้เห็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลายอย่างที่สามารถนำมาปรับใช้ได้

เช่น เรื่องของ Smart Living หรือ Smart Health ซึ่งเทคโนโลยีแต่ละด้านที่นำมาเสนอในงานนี้มีความน่าสนใจ และสามารถนำมาเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองของตัวเองได้” นายกเทศมนตรีเมืองสามพราน 

สำหรับผู้สนใจสามารถร่วมงาน “Thailand Smart City 2023” งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีระดับนานาชาติด้านเมืองอัจฉริยะ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สามารถติดตามข่าวสารของงานได้ที่ Facebook: ThailandSmartCityExpo