AI บอกเล่าประวัติศาสตร์ ต่อยอดท่องเที่ยวไทยสู่ซอฟต์พาวเวอร์

AI บอกเล่าประวัติศาสตร์ ต่อยอดท่องเที่ยวไทยสู่ซอฟต์พาวเวอร์

ชวนรู้จัก “แหลงต๊ะ (LanG-Ta)” แชตบอตปัญญาประดิษฐ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และยังมี “อยุธยา” พื้นที่วัฒนธรรมอาหาร นำข้อมูลอารยธรรมที่มีอยู่มาผนวกกับเทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เกิดเป็น soft power

แหลงต๊ะ (LanG-Ta) แชตบอตปัญญาประดิษฐ์ เป็น 1 ใน 6 แผนงานย่อยในโครงการวิจัย “การพัฒนาแพลตฟอร์มด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์สู่จักรวาลนฤมิตร" (AI-MHT) ทำหน้าที่สื่อสารบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และนำเสนอข้อมูลของแหล่งท่องเที่ยวบนเส้นทางศุทรา (เส้นทางการค้าสุวรรณภูมิ) บริเวณจังหวัดชุมพรและระนอง

AI-MHT ได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวพื้นที่สองจังหวัดของดินแดนสุวรรณภูมิโบราณ โดยนำข้อมูลประวัติศาสตร์ที่มีอยู่มาบูรณาการร่วมกับดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

AI บอกเล่าประวัติศาสตร์ ต่อยอดท่องเที่ยวไทยสู่ซอฟต์พาวเวอร์

สื่อสารด้วยแชตบอต

แพลตฟอร์มเอไอ “แหลงต๊ะ” หรือ Land of Gold-Talk คุยเฟื่องเรื่องสุวรรณภูมิ เป็นแชตบอตที่ทีมวิจัยได้จัดทำและรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ ณ พื้นที่ชุมพรและระนอง นำเอไอมาพัฒนาเป็นรูปแบบระบบโต้ตอบอัตโนมัติ คล้ายคลึงกับแชตบอตจีพีที (GPT) ที่จะใช้สื่อสารบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และนำเสนอข้อมูลต่างๆ ของแหล่งท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยว บนเส้นทางเชื่อมโยงของทั้งสองจังหวัด

LanG-Ta ยังมีฟังก์ชันของเกมบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสเรื่องราวในอดีตของแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสนุกสนาน และเพื่อให้เยาวชนสามารถเข้าถึงข้อมูลประวัติศาสตร์ได้ง่ายขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยว

AI บอกเล่าประวัติศาสตร์ ต่อยอดท่องเที่ยวไทยสู่ซอฟต์พาวเวอร์

เส้นทางศุทรา (เส้นทางการค้าสุวรรณภูมิ) จ.ชุมพร-ระนอง

ณสิทธิ์ เหล่าเส็น อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า สามารถใช้บริการแหลงต๊ะผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งประกอบด้วย 5 ฟีเจอร์ ดังนี้

  1. สอบถามข้อมูลที่กิน ที่พัก ที่ท่องเที่ยว ในจังหวัดระนอง-ชุมพร
  2. สอบถามข้อมูลแหล่งโบราณคดี โบราณวัตถุตามแนวเส้นทางศุทรา
  3. สอบถามข้อมูลเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรสมัยสุรรณภูมิ
  4. สามารถวางแผนเส้นทางท่องเที่ยวภายใต้เงื่อนไขเวลา
  5. ตรวจจับพิกัด GPS และแนะนําสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง 

สำหรับ AI-MHT ประกอบด้วย 6 โครงการย่อย ได้แก่ 1.อนิเมชันสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi) 2.สารานุกรมออนไลน์ 3.แชตบอตสื่อสารแหลง-ต๊ะ (LanG-Ta) 4.เว็บไซต์สิมิลันด์ (SimiLand) 5.เกมออนไลน์ Golden Land: the Journey of Beads และ 6.เส้นทางท่องเที่ยวทางศุทรา (SuTRA) 

โดยความร่วมมือของ 6 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยรังสิต เนคเทค มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน 

AI บอกเล่าประวัติศาสตร์ ต่อยอดท่องเที่ยวไทยสู่ซอฟต์พาวเวอร์

“อยุธยา” พื้นที่วัฒนธรรมอาหาร

นอกจากเส้นทางท่องเที่ยวในชุมพรและระนองแล้ว เทคโนโลยี AI เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนยังส่งต่อไปยังการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับเส้นทางการค้าสุวรรณภูมิ เพื่อยกระดับสู่การเป็นเขตพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงอาหารอาเซียน 

รศ.พรรณี สวนเพลง อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมอาหารอยุธยาเมืองท่าแห่งตะวันออก ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) 

มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเที่ยวด้านวัฒนธรรมอาหารของพระนครศรีอยุธยาให้เป็นที่รู้จัก รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องอาหาร โดยนำอาหารไทยโบราณหากินยากมาเป็นจุดขาย ผสมผสานกับการเรียนรู้เรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ 

ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของฝากชนิดใหม่ของจังหวัดจากโครงการในชื่อ คือ “ขนมหินฝนทอง” ซึ่งเป็นขนมหวานหากินยาก ได้มาจากการวิจัยถอดรหัสภูมิปัญญาสำรับอาหารอยุธยา ปัจจุบันทางบริษัทนำเที่ยวนำมาจัดเป็นโปรแกรมการทำขนมนำเสนอให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ร่วมมือสู่ความสำเร็จ

โครงการนี้เป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน และผู้ประกอบการ มุ่งให้อยุธยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร หรือรูปแบบการท่องเที่ยววิถีใหม่ โดยคัดเลือกกิจกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความโดดเด่น เชื่อมโยงกับเรื่องราวเชิงวัฒนธรรมอาหาร

เช่น กิจกรรมเดินจ่ายตลาด ณ ตลาดหัวรอ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา การเยี่ยมชมครัวโบราณบ้านเกาะเรียนและเลือกซื้อขนมตระกูลทองบ้านป้ามะลิ การกินอาหารโบราณกรุงศรีอยุธยาที่ร้านครัวท่าหลวง การทำขนมหินฝนทอง และปิดท้ายด้วยการล่องเรือชมความงามรอบเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา 

ทั้งยังมีการสร้างย่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารของอยุธยา (Ayutthaya Gastronomy Town) ร่วมกับกรมศิลปากรและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตลอดจนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ อาทิ กิจกรรม Exo Travel, Amazing Asia Tours, Water of Asia, Travel exclusive Asia เป็นต้น