ไทยนิ่ง! ดัชนีนวัตกรรมโลก คงอันดับ 43 เหมือนเดิม

ไทยนิ่ง! ดัชนีนวัตกรรมโลก คงอันดับ 43 เหมือนเดิม

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เปิดเผยดัชนีนวัตกรรมโลก ปี 66 ไทยยังคงครองอันดับ 43 พร้อมเปิด 6 มาตรการเร่งปิดจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง เช่น ดัน Soft power เป้าหมายพาไทยสู่ ท็อป 30 ในปี 2573

องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) เปิดผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2566 หรือ Global Innovation Index 2023 (GII 2023) ซึ่งจัดขึ้นในธีมผู้นำนวัตกรรมท่ามกลางความไม่แน่นอน (Innovation in the face of uncertainty) เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของเขตเศรษฐกิจทั่วโลก 132 ประเทศทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยปีนี้ยังครองอันดับที่ 43 คงเดิมจากปีที่แล้ว ถือเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ (5) และประเทศมาเลเซีย (36)

ทั้งนี้ มีอันดับของกลุ่มปัจจัยขยับขึ้น 5 จาก 7 กลุ่ม โดยกลุ่มที่มีการขยับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น ได้แก่ กลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาด (Market sophistication) ที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 22 จาก 132 ประเทศ

ไทยนิ่ง! ดัชนีนวัตกรรมโลก คงอันดับ 43 เหมือนเดิม

กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA กล่าวถึงตัวเลขดังกล่าวว่าไทยมีอันดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในหลายปัจจัย เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 จาก 16 ประเทศ และยังคงอยู่อันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยที่เป็นจุดแข็งมากที่สุด เป็นกลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาดอยู่อันดับที่ 22 ปรับตัวขึ้นจากปีที่แล้ว 5 อันดับ นอกจากนี้ กลุ่มปัจจัยที่มีอันดับดีขึ้น

ได้แก่ กลุ่มปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น 5 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 49 และกลุ่มปัจจัยด้านผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ ที่ภาพรวมปรับตัวดีขึ้น 5 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 44 โดยมีจุดแข็งด้านการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ (อันดับที่ 1)

ตรงกันข้ามกับกลุ่มปัจจัยที่ปรับอันดับลดลง ได้แก่ กลุ่มปัจจัยด้านสถาบัน กลุ่มปัจจัยด้านทุนมนุษย์และการวิจัย โดยปัจจัยด้านสถาบันอันดับลดลงมากที่สุดถึง 7 อันดับ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงรักษาประสิทธิภาพทางนวัตกรรมที่สะท้อนความคาดหวังตามระดับรายได้ (GDP per capita) คงอยู่ในระดับบวก มีความก้าวหน้าทางด้านนวัตกรรมที่สูงกว่าความคาดหมาย

ทั้งนี้ ดัชนีนวัตกรรมโลกเป็นการจัดอันดับความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ผ่านการประเมินตัวชี้วัดทั้งสิ้น 80 ตัวชี้วัด ซึ่งจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 ส่วนธีมปีนี้เน้นนำกระแสแนวโน้มการพัฒนานวัตกรรม เทียบกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่นำไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไทยนิ่ง! ดัชนีนวัตกรรมโลก คงอันดับ 43 เหมือนเดิม

กระทั่งนำไปสู่การลดการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนานวัตกรรมในห่วงโซ่อุปทานโลก ภาวะปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของนวัตกรรม ความแตกต่างประสิทธิภาพทางนวัตกรรมของประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา

“ประเทศไทยมีจุดแข็งตรงที่เรามีการวิจัยเป็นจำนวนมาก และมีนักวิจัยที่เก่ง สามารถสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมได้หลากหลายครบวงจร ทั้งยังจุดแข็งเรื่องของการลงทุนจากภาคเอกชน” ผู้อำนวยการ NIA กล่าว

นอกจากนี้ WIPO ยังได้เปิดผลการจัดอันดับเมืองคลัสเตอร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (GII Science and Technology Clusters) 100 อันดับแรกของโลก โดยคลัสเตอร์ชั้นนำทั้ง 5 แห่งแรกอยู่ในทวีปเอเชียตะวันออก

อันดับ 1 คือ โตเกียว-โยโกฮาม่าของประเทศญี่ปุ่น รองลงมาคลัสเตอร์เซินเจิ้น-ฮ่องกง-กวางโจว ตามด้วยโซลของเกาหลีใต้ ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้-ซูโจวของประเทศจีน ตามลำดับ

ส่วนประเทศไทย มีกรุงเทพเป็นพื้นที่กลุ่มคลัสเตอร์ที่มีการขยายตัวที่สุด แต่ยังไม่ติดอันดับท็อป 100 ซึ่งกลุ่มคลัสเตอร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการประเมินดัชนี GII ที่สะท้อนประสิทธิภาพของระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศต่าง ๆ

ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การที่นวัตกรรมของไทยจะสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้นั้น ต้องอาศัยความเข้มแข็งของภาคเอกชน โดยมีภาครัฐเป็นกองหนุนสำคัญที่จะสร้างการรับรู้ ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ชาตินวัตกรรม” และก้าวสู่ ดัชนี GII อันดับที่ 30 ภายในปี 2573 ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยมุ่งเน้น 6 แนวทาง ได้แก่

  1. รัฐจะต้องเป็น Sandbox และ Accelerator ของนวัตกรรม  เพื่อให้เกิดพื้นที่นำร่องและสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรม
  2. เร่งการเติบโตในการลงทุนทางนวัตกรรมเชื่อมกับการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ การลงทุน และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิจัย พัฒนา และสร้างผลผลิตทางนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก
  3. กระตุ้นกิจกรรมด้านตลาดการเงินนวัตกรรมและตลาดทุนทางเทคโนโลยี  ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดทุน สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ธุรกิจที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม
  4. เพิ่มจำนวนวิสาหกิจฐานนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างทางธุรกิจ  เพื่อสร้างการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้ สร้างธุรกิจใหม่ที่ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่มูลค่า และสร้างตลาดแรงงานทักษะสูง
  5. กระตุ้นการจดทะเบียนสิทธิบัตรและใช้ประโยชน์สิทธิบัตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ผ่านการพัฒนานโยบายเชิงรุกด้านการลงทุน การคุ้มครองและการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา
  6. เพิ่มจำนวนนวัตกรรมฐานความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ที่ถือเป็นจุดเด่นของประเทศไทยที่จะนำซอฟต์พาวเวอร์มาพัฒนาสู่นวัตกรรมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่นและบันเทิง

ทางด้าน ณัฐชนิกา จิตต์ณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทรัพย์สินอุตสาหกรรม กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ประเทศที่มีดัชนีทางนวัตกรรมอันดับสูง ยกตัวอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ มีการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ประเทศเหล่านั้นสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าได้ และกลายมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี

สำหรับประเทศไทย ในปี 2566 มีการยื่นจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น จึงสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการหรือผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น

กรมทรัพย์สินทางปัญญามีบทบาทหลายมิติ เช่น การส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม การส่งเสริมให้สิทธิบัตรต่างๆ นั้นใช้เวลารวดเร็วขึ้นในการขอใบอนุญาต พัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (IP) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

“ภารกิจของกรมทรัพย์สินทางปัญญาขณะนี้คือ ทำให้การขอสิทธิบัตรต่างๆ นั้นเร็วขึ้น ที่ผ่านมาได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับกระบวนการตรวจสอบคำขอทุกทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า เมื่อก่อนใช้เวลาขอ 12 เดือน ตอนนี้มีระบบ Fast Track ลดเวลาเหลือเพียงแค่ 4 เดือน

และปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุนทางมนุษย์ นั้นมีความสำคัญกับทุกๆ อุตสาหกรรม เพราะจะทำให้การทำงานนั้นรวดเร็วขึ้น หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถให้ความสำคัญกับทุกเรื่องได้ เพราะด้วยกำลังคน งบประมาณที่จำกัด แต่ข้อจำกัดเหล่านี้สามารถทำให้พังทลายได้ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อทำให้การขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจนั้นก้าวไปข้างหน้า”