"มีล็อก" (MeLog) ผู้ช่วยเถ้าแก่ขนส่งเพิ่มกำไร-ลดต้นทุน

"มีล็อก" (MeLog) ผู้ช่วยเถ้าแก่ขนส่งเพิ่มกำไร-ลดต้นทุน

แพลตฟอร์มรถร่วมเถ้าแก่น้อยในชื่อ “มีล็อก” 1 ใน 10 ตัวแทนสตาร์ตอัปไทยร่วมงาน AsiaBerlin Summit 2023 ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี หารือถึงแนวโน้มเทคโนโลยีล่าสุดและความร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างไทย เอเชียและเบอร์ลิน ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งสตาร์ตอัปของยุโรป

ตอบโจทย์ 3 เพนพอยต์หลัก

"มีล็อก" (MeLog) นวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ในการติดตามดูสถานะรถขนส่ง มาพร้อมฟังก์ชันรายงานระยะทาง ความเร็ว สามารถรายงานต้นทุนการขนส่งต่อเที่ยว

เพื่อเปรียบเทียบกำไรและขาดทุน รวมไปถึงการหางานให้รถบรรทุกวิ่งให้ทำรอบต่อเดือนให้ได้มาก ช่วยเพิ่มกำไรและลดค่าใช้จ่าย ทั้งหมดนี้ใช้งานผ่านมือถือเพียงเครื่องเดียว

สิริพงศ์ จึงถาวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท มีล็อก จำกัด ขยายความถึงคำว่า “เถ้าแก่น้อย” ที่ปรากฏในแพลตฟอร์มว่าเป็นคำเรียกขานผู้ที่มีรถบรรทุกหรือรถขนส่งสินค้า

ในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 1 แสนราย และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์กว่า 25,500 ราย รวมไปถึงรถขนส่งสินค้าที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งกว่า 1.5 ล้านคันได้แก่ รถบรรทุก รถกระบะ รถตู้

การสำรวจและศึกษาข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการขนส่งกว่า 200 ราย พบว่า ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (LSP) ส่วนใหญ่มีกำไรเพียง 1-5% บางรายยอดขายกว่า 1,000 ล้านบาท แต่กำไรเพียง 10 ล้านบาท เพราะธุรกิจนี้แข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง

อีกทั้งการขยายตัวและแข่งขันของ Marketplace และ E-Commerce มีการทุ่มตลาดของผู้เล่นรายใหญ่ การจัดโปรขนส่งฟรี ทำให้ผู้เป็นเจ้าของรถขนส่งได้กำไรน้อยลงจนถึงขาดทุน

\"มีล็อก\" (MeLog) ผู้ช่วยเถ้าแก่ขนส่งเพิ่มกำไร-ลดต้นทุน

“ข้อมูลการสำรวจดังกล่าวทำขึ้นในช่วงเรียนปริญญาเอกด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ขณะนั้นก็ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ด้วย

จึงนำโจทย์ปัญหาที่พบร่วมกับผู้ประกอบการพัฒนาแพลตฟอร์ม ที่ตอบโจทย์ธุรกิจบริการขนส่งยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยี(LogTech)”

\"มีล็อก\" (MeLog) ผู้ช่วยเถ้าแก่ขนส่งเพิ่มกำไร-ลดต้นทุน

ทีมงานออกแบบแพลตฟอร์มมีล็อกให้เน้นแก้ปัญหาหลัก 3 ด้านของผู้ประกอบการขนส่ง ได้แก่

1.การบริหารต้นทุนขนส่ง เพราะต้นทุนขนส่งกว่า 60% มาจากเชื้อเพลิง ยาง น้ำมันเครื่อง การซ่อมบำรุงและการเกิดอุบัติเหตุ ถ้าสามารถลดต้นทุน (บาทต่อกิโลเมตร) ก็จะทำให้มีกำไรมากขึ้น

2.การติดตามสถานะ/พิกัดรถแบบเรียลไทม์และอัปเดตได้ตลอดเวลา รวมถึงศึกษาพฤติกรรมของผู้ขับขี่ด้วย และ 3.การจัดการที่ทันสมัย เพื่อยกระดับภาคการขนส่ง

“ผู้ประกอบการ 25,500 รายนั้น มากกว่า 98% ยังไม่ได้รับรองมาตรฐาน Q-Mark โดยมีเพียง 2% เท่านั้นที่ได้รับการรับรอง รวมไปถึงการต่อยอดด้านบริการการเงิน เพื่อให้เครดิตสกอร์สำหรับผู้ขับรถมืออาชีพ จะสามารถนำเงินมาหมุนในธุรกิจได้”

เล็งเสริม AI วิเคราะห์ผู้ขับขี่

เฟสที่ 1 ของแพลตฟอร์มมีระบบติดตามรถบรรทุก สามารถติดตามรถบรรทุกได้ว่าจะวิ่งไปที่ใดบ้าง จอดหลายๆ จุด (Multidrop) คำนวณต้นทุน บาท/กิโลเมตร การใช้ความเร็วที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ การใช้ยาง

การแจ้งเตือนการซ่อมบำรุง และติดตามรถในกองยานพาหนะทุกคัน รวมไปถึงการสรุปรายได้ในแต่ละเดือน และการควบคุมมาตรวัดที่สำคัญในงานโลจิสติกส์

ขณะเดียวกันก็ได้ขยายบริการ Marketplace ฝั่งลูกค้าที่ต้องการหาผู้ขนส่งเข้าไปรับของจะโพสต์งานได้ ฝั่งความต้องการ (ดีมานด์)

และอีกด้านจะเป็นฝั่งอุปทาน (ซัพพลาย) เจ้าของรถ และตัวแทน ก็สามารถเข้ามาโพสต์รับงานได้ ดูระยะทาง ประเภทรถ และค่าบริการในระบบ ต่อยอดไปถึงการบริหารรถ และการจัดการงานซ่อมบำรุงจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เช่น ยาง น้ำมันเครื่อง ชิ้นส่วนรถ

\"มีล็อก\" (MeLog) ผู้ช่วยเถ้าแก่ขนส่งเพิ่มกำไร-ลดต้นทุน

แผนในอนาคตเฟสที่ 2 บริษัทจะนำระบบแมชชีนเลิร์นนิงและเอไอ เข้ามาช่วยให้ระบบศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ขับรถบรรทุก ลักษณะเส้นทาง การวิ่ง การทำเวลา รวมไปถึง การคาดการณ์ด้านการขนส่ง

ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานของวงการโลจิสติกส์ในประเทศไทยให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น

ธุรกิจยั่งยืนต้อง “โกอินเตอร์”

ตลาดเทคโนโลยีโลจิสติกส์ทั่วโลกนั้นมีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท และในไทยมีมูลค่า 3,500 ล้านบาท เขาจึงมองไกลถึลตลาดต่างประเทศ

การมีโอกาสร่วมงานสตาร์ตอัปที่เยอรมันก็เป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะออกสู่ตลาดโลก โดยคิดว่ามีความเป็นไปได้สูง ไม่ยาก เพราะหลายแอปพลิเคชันดังๆ ของโลกก็มีคนไทยอยู่เบื้องหลัง

ในตลาดส่วนใหญ่จะไปพัฒนาส่วนปลายน้ำ สิริพงศ์มองกลับไปเริ่มที่ต้นน้ำและกลางน้ำ ช่วยพนักงานขับรถ เจ้าของรถ และผู้ต้องการจ้างงาน ติดตามและควบคุมต้นทางว่าจะจัดส่งสินค้าอย่างไรให้ปลอดภัย ต้นทุนกี่บาทต่อกิโลเมตร

ทำให้ผู้ประกอบการสามารถทราบต้นทุน และกำไรที่แท้จริง เที่ยวต่อเที่ยว และต่อยอดไปยังการบริหารกระแสเงินสด และการนำเงินไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ

หรือองค์กรที่มีรถบรรทุกของตัวเองก็สามารถนำแพลตฟอร์มมีล็อกนี้ ไปติดตามรถบรรทุกในกองยานพาหนะเสมือนเป็น Mini-ERP ของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์

นอกจากนี้ในอนาคตยังรองรับการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยียานยนต์จากการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันไปสู่ “รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า” อีกด้วย

\"มีล็อก\" (MeLog) ผู้ช่วยเถ้าแก่ขนส่งเพิ่มกำไร-ลดต้นทุน

ผศ.ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)  กล่าวว่า  สถานการณ์โลจิสติกส์และรถขนส่งในปัจจุบัน ตลาดผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนกำลังเติบโตสูง ประมาณปีละ 15 - 20% 

ทำให้ธุรกิจนี้น่าสนใจ ด้วยปริมาณรถบรรทุกในไทยที่จดทะเบียนในระบบมากกว่า 1.5 ล้านคัน  สจล.จึงได้ส่งเสริมสตาร์ตอัป "มีล็อก" (MELOG) พัฒนาแพลตฟอร์มโลจิสติกส์และรถขนส่งครบวงจร 

โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED FUND) นับเป็นโอกาสของสตาร์ทอัพบริการโลจิสติกส์ในประเทศไทย 

โดยสอดคล้องกับแนวทาง สจล.ในการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ (Startup) และการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการและยกระดับผู้ให้บริการขนส่งสู่พลังความเข้มแข็ง (Synergy) ตลอดจนธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน.