ส่องกลยุทธ์ Corporate Venturing Squads | ต้องหทัย กุวานนท์

ส่องกลยุทธ์ Corporate Venturing Squads | ต้องหทัย กุวานนท์

โลกของการขับเคลื่อนนวัตกรรมองค์กรกำลังเปลี่ยนไป องค์กรธุรกิจเริ่มหันหน้าเข้าหากันเพื่อสร้างซินเนอร์จีในการแสวงหานวัตกรรมใหม่ บริษัทในหลายอุตสาหกรรมจับมือกันเพื่อคัดเลือก ร่วมมือ และพาร์ตเนอร์กับสตาร์ตอัปในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม

ล่าสุด รายงานแนวโน้มการพัฒนานวัตกรรมขององค์กรขนาดใหญ่ที่จัดทำโดย IESE Business School ได้ให้คำจำกัดความใหม่ของการขับเคลื่อนนวัตกรรมในองค์กรที่น่าจะเป็นเทรนด์ที่แพร่หลายและขยายตัวจากนี้ไป

Corporate Venturing Squads” คือ การที่องค์กรธุรกิจหลายองค์กรร่วมมือกันในการขับเคลื่อนนวัตกรรมกับสตาร์ตอัป ในรูปแบบที่ครอบคลุมทั้งในด้านการลงทุน การทดสอบเทคโนโลยี และการสรรหาสตาร์ตอัปร่วมกัน 

 

ผลการสำรวจผู้บริหารด้านการขับเคลื่อนนวัตกรรมขององค์กรกว่า 200 องค์กรในยุโรป อเมริกา และเอเชีย พบว่า 37% ของผู้บริหารองค์กรมองว่าการร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ในการทำงานกับสตาร์ตอัปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการหา Deal Flow เพื่อคัดเลือกบริษัทที่น่าสนใจในการเข้าลงทุน 

อีก 29% มองว่าการร่วมมือกับองค์กรธุรกิจอื่นช่วยสร้างเครือข่ายระบบนิเวศนวัตกรรมให้เปิดกว้างมากขึ้น และอีก 26% เห็นว่าการที่หลายองค์กรมาร่วมแชร์ Pain Points เพื่อหาโซลูชันกับสตาร์ตอัปช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่มีคุณค่าเชิงพาณิชย์ให้กับอุตสาหกรรม

ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา รูปแบบ Corporate Venturing Squads มีให้เห็นเพิ่มมากขึ้น โดยมักจะเป็นการร่วมมือขององค์กรธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันหรืออยู่ใน Value Chain เดียวกัน เป้าหมายหลักของความร่วมมือขึ้นอยู่กับกรอบความตกลง

และมักจะครอบคลุมเรื่องของการร่วมเป็นพันธมิตรกับสตาร์ตอัป การทดสอบโซลูชันและไอเดียใหม่ ไปจนถึงการร่วมตั้งกองทุนหรือร่วมลงทุน

ส่องกลยุทธ์ Corporate Venturing Squads | ต้องหทัย กุวานนท์

ตัวอย่างเช่น โครงการ 100+ Accelerator ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอุปโภคบริโภคอย่าง คอลเกต ปาล์มโอลีฟ ยูนิลีเวอร์ โคคา โคลา แอนไฮเซอร์-บุช เพื่อหาสตาร์ตอัปที่จะนำเอาโซลูชันมาแก้โจทย์ในระบบซัพพลายเชนและการผลักดันให้เกิดธุรกิจเพื่อความยั่งยืน 

สตาร์ตอัปที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับเงินทุนตั้งต้นประมาณหนึ่งแสนดอลลาร์ เพื่อนำเอาเทคโนโลยีไปพัฒนาและทดสอบโดยร่วมมือทำงานจริงกับบริษัทพันธมิตรในโครงการ 

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โครงการนี้ได้รับรางวัล World Partnership Award ในฐานะที่สร้างผลลัพธ์ทำให้เกิดโครงการนวัตกรรมใหม่ๆภายใต้ความร่วมมือของพันธมิตรโครงการได้มากถึง 1,000 กว่าโครงการ และสตาร์ตอัปที่เข้าร่วมโครงการได้รับโอกาสในการเซ็นสัญญากับองค์กรใหญ่ถึงกว่า 50 โครงการ ใน 30 ประเทศทั่วโลก 

นอกจากธุรกิจอุปโภคบริโภคแล้ว ยังมีองค์กรในธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจก่อสร้างที่นำโดย Cemex Ventures ผู้นำธุรกิจบริษัทปูนซีเมนต์ของโลกที่จับมือกับพันธมิตรอย่าง Ferrovial, Hilti, VINCI Group's

ร่วมกันคัดสรรสตาร์ตอัปเพื่อมาร่วมทำ Proof of concept หรือ พัฒนาต้นแบบเพื่อทดสอบการใช้งานจริงในอุตสาหกรรม และยังมี Mobility X Lab ที่เป็นการร่วมมือของบริษัทยานยนต์ชั้นนำและกลุ่ม Telco อย่าง Volvo, Autoliv, และ Ericsson

การลองผิดลองถูกเพื่อค้นหาโมเดลที่จะทำให้องค์กรได้ “ของ” ที่ต้องการ ในที่สุดก็คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติ แทนที่จะแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ แต่เป็นการเปิดประตูต้อนรับพาร์ตเนอร์และคู่แข่งขันมาช่วยกันให้โจทย์และหาโซลูชันจากสตาร์ตอัป เพื่อนำไปสู่การต่อยอดสร้างธุรกิจบนฐานความแข็งแกร่งเฉพาะตัวขององค์กรเอง