สำรวจเชิงลึกไทย ‘ลังเล’ ใช้เอไอ กำลังศึกษาข้อมูล-รอการสนับสนุน

สำรวจเชิงลึกไทย ‘ลังเล’ ใช้เอไอ กำลังศึกษาข้อมูล-รอการสนับสนุน

ETDA ร่วมกับ สวทช.เปิดผลการศึกษาความพร้อมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับบริการดิจิทัลอย่างมีธรรมาภิบาลหนึ่งในกรอบการดำเนินงานที่ระบุไว้ใน “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ.2565-2570)”

ผลการศึกษาพบว่า องค์กรและหน่วยงานในประเทศไทยเริ่มมีการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) แล้ว และมีแนวโน้มใช้งานมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มการเงินและการค้า กลุ่มการใช้งานและบริการภาครัฐ และกลุ่มการศึกษา

ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มการเงินและการค้านำเอไอมาช่วยตรวจสอบข้อมูล ยืนยันตัวตน แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การอนุมัติสินเชื่อ และประเมินความเสี่ยง ในกลุ่มการแพทย์และสุขภาวะ ใช้เอไอมาช่วยตรวจสอบความครบถ้วนของเครื่องมือผ่าตัด และช่วยในการวินิจฉัยและตัดสินใจของแพทย์

กลุ่มการศึกษานำเอไอมาประมวลผลข้อมูลเพื่อรองรับแอปพลิเคชันแชตจีพีที หรือแชตบอต เพื่อให้ข้อมูลพื้นฐานแก่นักศึกษาหรือบุคลากรภายนอก เป็นต้น

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง 15.2% มีการนำเอไอมาใช้งานแล้วในองค์กรแล้ว โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือการให้บริการขององค์กร
  2. เพื่อใช้ในการบริหารจัดการภายในองค์กร
  3. เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่องค์กร ตามลำดับ

ส่วนอีก 56.65% มีแผนที่จะนำมาใช้ในอนาคต และ 28.15% ที่ยังไม่มีแผนที่จะใช้ ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตองค์กรในประเทศไทยจะนำเอไอมาประยุกต์ใช้เพิ่มอย่างรวดเร็วแน่นอน

ในส่วนของภาครัฐ นำเอไอมาประยุกต์ใช้งานด้าน Computer Vision and Image processing กล่าวคือ ตรวจจับข้อมูลภาพต่างๆ และแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัล จัดทำเป็นข้อมูลกลางสำหรับใช้งานร่วมกันในหน่วยงาน เช่น การอ่านข้อมูลทะเบียนรถ และข้อมูลรถยนต์ที่เข้าออกทางด่วน ก่อให้เกิดประโยชน์ที่สร้างฐานข้อมูลรวมซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับทุกๆ หน่วยงาน 

สำหรับองค์กรที่ยังไม่มีการใช้เอไอได้ให้เหตุผลหลัก 3 ประการ

  1. ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาข้อมูล เนื่องจากยังไม่ทราบว่าจะนำเอไอมาประยุกต์ใช้อย่างไร
  2. คิดว่าอาจยังไม่มีความจำเป็น
  3. องค์กรยังขาดความพร้อมและต้องการการสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรและงบประมาณ 

ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาเอไอในระยะถัดไป (ปี 2567) โดยแบ่งตามแผนยุทธศาสตร์ดังนี้  

1) ด้านจริยธรรมและกฎระเบียบ มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักและให้มีศูนย์บริการให้คำปรึกษาด้านเอไอ 

2) ด้านโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลสำหรับเอไอที่เน้นพัฒนา AI Service Platform บนโครงข่าย GDCC ที่จะสนับสนุนภาครัฐและภาคธุรกิจมากขึ้น

3) ด้านการพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มผู้เชี่ยวชาญและวิศวกรด้านเอไอให้เพียงพอต่อการเติบโต 

4) ด้านวิจัยและพัฒนา ด้วยการกำหนด Flagship Project เช่น Thai Large Language Model (LLM) สนับสนุนการใช้เอไอผู้สร้างหรือ Generative AI ในธุรกิจไทย และขึ้นทะเบียนผลงานนวัตกรรมเกี่ยวกับเอไอ

5) ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้งานเอไอหรือการทำแซนด์บ็อกซ์ ได้แก่ การร่วมขับเคลื่อนเทคสตาร์ตอัป เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและการสร้างสรรค์งานบริการด้านเอไอในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เช่น การให้หน่วยงานรัฐอย่างโรงพยาบาลทำงานร่วมกับสตาร์ตอัป เพื่อนำเอไอไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่มีความปลอดภัยสูง เป็นต้น 

“สำหรับกฎหมายเอไอ ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถออกกฎหมายต่างๆ เนื่องจากเอไอยังไม่คงที่และมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือ การออกมาตรการพื้นฐานธรรมมาภิบาลเอไอ ให้ผู้ที่ใช้มีความตระหนักรู้ ทั้งด้านความปลอดภัย ประโยชน์และโทษ โดยมาตรการดังกล่าวจะสามารถเผยแพร่อย่างเป็นรูปธรรมในอีก 2 สัปดาห์ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง เอ็ตด้า เนคเทค สวทช. และผู้ที่เกี่ยวข้อง” ผอ.เนคเทค กล่าว

สำรวจเชิงลึกไทย ‘ลังเล’ ใช้เอไอ กำลังศึกษาข้อมูล-รอการสนับสนุน

ตำแหน่งงาน 27% กลุ่มโออีซีดีเสี่ยงถูก AI แทนที่

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เปิดเผยในรายงานแนวโน้มการจ้างงานปี 2566 (2023 Employment Outlook) ว่า ตำแหน่งงานในกลุ่มประเทศโออีซีดีมากกว่า 1 ใน 4 นั้นพึ่งพาทักษะการทำงานที่สามารถเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติได้อย่างง่ายดาย บรรดาแรงงานต่างกังวลว่า เอไอจะมาแย่งงานของตนไป

โออีซีดี กล่าวว่า มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยเท่านั้นว่า การเกิดขึ้นของเอไอมีผลกระทบต่อตำแหน่งงานของผู้คนอย่างมีนัยสำคัญ แต่นั่นอาจเป็นเพราะการปฏิวัติยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

ตำแหน่งงานที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะถูกเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติ คิดเป็นประมาณ 27% ของกำลังคนโดยเฉลี่ยของกลุ่มประเทศโออีซีดีโดยประเทศแถบยุโรปตะวันออกมีความเสี่ยงสูงสุด

งานที่มีความเสี่ยงสูงสุดคืองานที่ต้องใช้ทักษะและความสามารถ 25 รายการ จาก 100 รายการ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอพิจารณาว่าสามารถเปลี่ยนไปเป็นระบบอัตโนมัติได้อย่างง่ายดาย

ผลสำรวจของโออีซีดีที่จัดทำขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เปิดเผยว่า 3 ใน 5 ของพนักงานมีความกังวลว่าจะถูกเอไอแย่งงานไปในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยผลสำรวจดังกล่าวสอบถามจากกลุ่มพนักงาน 5,300 คน จากบริษัท 2,000 แห่ง ครอบคลุมทั้งภาคการผลิตและการเงิน 7 ประเทศในกลุ่มโออีซีดี และการสำรวจนี้มีขึ้นก่อนการเปิดตัวปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI) อย่างแชตจีพีที (ChatGPT)

มาเธียส คอร์แมนน์ เลขาธิการโออีซีดีระบุ เอไอจะส่งผลกระทบต่อพนักงานในที่ทำงานอย่างไร และจะมีผลประโยชน์หรือมีความเสี่ยงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายของเรา รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือแรงงานในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง และการได้รับประโยชน์จากโอกาสที่เอไอจะเข้ามา

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศโออีซีดี ประกอบด้วยสมาชิก 38 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังรวมถึงประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่บางแห่งด้วย เช่น เม็กซิโก และเอสโตเนีย