เมืองอัจฉริยะ | เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

เมืองอัจฉริยะ | เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

พวกเราคงเคยได้ยินการพูดถึงเมืองแห่งอนาคต ที่เรียกกันว่าเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ตซิตี้ กันอยู่เป็นระยะ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะนึกถึงเมืองที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี มีอุปกรณ์อันล้ำสมัย (gadgets) มากมาย ที่อาจต้องลงทุนมหาศาลกว่าจะได้ขึ้นมาสักเมือง

สำหรับตัวยุ้ยเอง อยากจะบอกกับทุกคนว่า เราไม่จำเป็นต้องไปเห่อหรือตั้งหน้าตั้งตารอคอยการเกิดของสมาร์ตซิตี้จนเกินไป แต่สามารถนำจุดประสงค์หลักและแนวคิดเดียวกัน มามุ่งมั่นในการสร้างเมือง หรือชุมชนให้ทุกคนมีความสุขและยั่งยืนกันได้

เราไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนสร้างเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ไม่จำเป็นต้องมุ่งหวังแต่เมืองอัจฉริยะในบางพื้นที่สำคัญ แต่เราสามารถช่วยกันสร้าง “สมาร์ตซิตี้แบบพอดี” (The Smart Enough City) กันให้ทั่วถึง น่าจะดีกว่า

ยุ้ยกำลังพูดถึงเมืองที่ฉลาดกำลังเหมาะ ไม่ต้องถึงขั้นอัจฉริยะ แต่ตอบโจทย์เดียวกัน นั่นคือการสร้าง “เมืองน่าอยู่” ที่เป็นไปได้ ใช้เทคโนโลยีที่พอเหมาะและพอเพียงที่ช่วยให้ประชาชนประหยัดรายจ่าย มีรายได้ที่เพียงพอ มีการใช้ชีวิตดีขึ้น มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม ช่วยลดมลภาวะลง มีผู้คน ชุมชนและสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

  • การพัฒนาที่อยู่อาศัยด้วยแนวคิด สมาร์ตซิตี้แบบพอดี (The Smart Enough City) ควรพิจารณาสามประเด็นหลักต่อไปนี้

1.พลังงานฉลาด (Smart Energy) คือ ให้เลือกใช้พลังงานทางเลือกที่ประหยัดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานทางเลือกที่เหมาะสมและเป็นไปได้ในวันนี้ คือพลังงานจากแสงอาทิตย์ ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์

เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน (Solar Rooftop) เพื่อให้ทุกคนได้ใช้พลังงานสะอาด 100% ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้มาก ทำให้มีรายได้เหลือไว้ใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆ

สำหรับคนที่หันมาใช้รถไฟฟ้า (EV หรือ Electric Vehicle) แล้วนั้น หากยังชาร์จไฟจากไฟบ้านในแบบเดิมๆ อยู่ คุณจะยังไม่ประหยัดจริง และยังไม่ช่วยลดมลพิษได้ครบวงจร เพราะยังใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่มีมลพิษสูงอยู่ ทุกคนควรหันมาให้ความสนใจในจุดชาร์จไฟที่มาจากพลังงานสะอาด ใช้ตู้ชาร์จที่ได้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ให้ทั่วถึง

เมืองอัจฉริยะ | เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาเรื่องความพร้อมในการชาร์จรถไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด (EV Ready) ตั้งแต่ปลูกบ้าน หรือเลือกซื้อบ้านเลยทีเดียว เพราะการติดตั้งระบบนี้แต่แรก ย่อมดีกว่ามาดัดแปลงติดตั้งเองภายหลัง

นอกจากนี้การนำแนวคิดเรื่อง บ้านประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม ที่มีตัวอย่างที่ดีจากญี่ปุ่น เป็นการสร้าง “บ้านพลังงานเป็นศูนย์” (ZEH หรือ Zero Energy House) ที่เราสามารถนำมาปรับให้เหมาะกับเมืองไทยได้ไม่ยาก

2. ชีวิตความเป็นอยู่ที่ชาญฉลาด (Smart Living) นำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว มาเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันในบ้าน ได้แก่ การใช้ AI (Artificial Intelligence) และการใช้แอปพลิเคชันบนมือถือ (Application) ที่ช่วยลดภาระเรื่องการติดต่อสื่อสาร

ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและลดปริมาณการใช้กระดาษ เช่น การติดต่อขอรับบริการต่างๆ การจองคิว การกรอกข้อมูลออนไลน์ และการชำระค่าใช้จ่ายออนไลน์

3. การเดินทางอย่างฉลาด (Smart Mobility) ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยวางแผนการเดินทาง ให้สะดวก รวดเร็ว คล่องตัวขึ้น ประหยัดเวลาในการหาและการรอคอย เช่น ระบบเช็กเวลาและการเดินรถสาธารณะ ระบบเช็กจุดจอดรถที่ว่าง ทำให้ไม่ต้องวนรถหา ประหยัดทั้งพลังงานและเวลา

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางในการใช้ชีวิตที่นำเอาเทคโนโลยีที่พอเหมาะและพอดีๆ มาใช้ให้ชีวิตดีขึ้น ทั้งในเรื่องการประหยัดเวลา การประหยัดค่าใช้จ่าย ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มีรายได้ที่เพียงพอยิ่งขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้นทั้งกายและใจ และยังมีส่วนร่วมในการลดมลภาวะ ลดคาร์บอน​ หรือเป็นการสร้างวิถีชีวิตเพื่อลดคาร์บอน​ ​(Decarbonized Lifestyle) ที่เคยเล่าให้ฟังได้เป็นอย่างดี

มาช่วยกันสร้างเมืองน่าอยู่ที่เป็น “สมาร์ตซิตี้แบบพอดี” (The Smart Enough City) ด้วยกันนะคะ