Batt Swap สัญชาติไทย ทลายกำแพงแบตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

Batt Swap สัญชาติไทย ทลายกำแพงแบตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

9 องค์กร รัฐ-เอกชน ผนึกกำลัง สร้าง “แพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยน สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” หรือ Batt Swap Platform เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศ

Battery Swapping หรือการสลับแบตเตอรี่แบบไม่ต้องรอชาร์จ แพลตฟอร์มจากการวิจัยและพัฒนาที่มุ่งแก้ข้อจำกัดของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

รวมถึงพัฒนานวัตกรรมที่รองรับกับสถานการณ์ในอนาคต โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับ 8 หน่วยงานทั้งภาคเอกชน ภาครัฐและมหาวิทยาลัย

โครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย หรือเรียกง่ายๆ ว่า Batt Swap Platform เป็นความร่วมมือของหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องคือ ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ผู้ให้บริการสถานชาร์จและผู้ผลิตแบตเตอรี่

ที่ต้องการผลักดันให้เกิดมาตรฐานเทคนิคกลางระหว่างแบตเตอรี่ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ตู้ประจุไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สามารถดำเนินการระหว่างกันได้ผ่านมาตรฐานกลางที่วางไว้

หมายความว่า ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยใช้เวลาไม่เกิน 5 นาทีในการเปลี่ยนสลับแพ็กแบตเตอรี่ (จากปกติที่ใช้เวลาชาร์จไฟ 2 ชั่วโมงต่อระยะทาง 50-80 กิโลเมตร)

ระหว่างที่อีกแพ็กหนึ่งอยู่ระหว่างการชาร์จ เป็นแพ็กแบตเตอรี่มีคุณสมบัติที่มาตรฐานร่วม สามารถสับเปลี่ยนได้ระหว่างการใช้ข้ามรุ่น ข้ามยี่ห้อรถ และชาร์จได้หลากหลายสถานี

Batt Swap สัญชาติไทย ทลายกำแพงแบตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

ต้นแบบสถานีชาร์จ Batt Swap

พิมพา ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC สวทช.) หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า จุดประสงค์ของการพัฒนาแพลตฟอร์มคือ การเพิ่มสถานีชาร์จและต้องการให้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าต่างรุ่นและยี่ห้อสามารถชาร์จด้วยกันได้ เหมือนกับสายชาร์จโทรศัพท์มือถือที่ใช้ข้ามค่ายได้ การสลับแบตข้ามค่ายถือเป็นเซอร์วิสรูปแบบใหม่ ที่ทำให้ผู้ใช้งานสะดวกยิ่งขึ้น

แนวคิด Battery Swapping Standard Platform ยังทำให้ราคาของมอเตอร์ไซค์ลดลง เนื่องจากไม่รวมราคาแบตเตอรี่ โดยสามารถเช่าหรือสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ตามระยะทางที่ใช้งาน และยังสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีล่าสุด โดยผู้ขับขี่สามารถใช้งานแบตเตอรี่ที่มีเทคโนโลยีใหม่หรือมีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้นจากสถานีสับเปลี่ยน

สวทช. ติดตั้งให้บริการสถานี Batt Swap ไว้ 3 จุดเพื่อการศึกษาวิจัย ได้แก่ ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ จ.ปทุมธานี, ปั๊มน้ำมันบางจาก เอกมัย-รามอินทรา คู่ขนาน 4 กรุงเทพฯ และสำนักงานกลาง กฟผ. จ.นนทบุรี 

Batt Swap สัญชาติไทย ทลายกำแพงแบตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

เบื้องต้นจำกัดให้บริการเฉพาะอาสาสมัครไรเดอร์ดิลิเวอรี ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในสภาวะการใช้งานจริงโดยใช้เวลาประมาณ 1 ปี เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะความเป็นไปได้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับประเทศไทยต่อไป

ส่วนแพ็กแบตในโครงการ แบ่งเป็น 1.ต้นแบบแพ็กแบตมาตรฐานแบบสับเปลี่ยน 1 รุ่น (รุ่น Swap2) และ 2. ต้นแบบแพ็กแบตสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 2 รุ่นจาก 2 ค่าย (GPX และ I-motor) 

"แบตเตอรี่ถูกออกแบบให้ใช้งานเกิน 5 ปี มาตรฐานเดียวกับแบตเตอรี่ยานยนต์ทั่วไป หลังจากแบตเตอรี่เสื่อมสภาพก็ยังสามารถนำไปใช้กับโซลาร์เซลล์หรือเครื่องปั๊มน้ำ ทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า" นักวิจัย กล่าว

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นผู้ให้ทุน ส่วนหน่วยงานร่วมวิจัย ประกอบด้วย บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ไอ-มอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และบริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ให้ทุนร่วม รวมทั้งดำเนินการวิจัยและพัฒนาร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น

อว.หนุนสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยมและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ต้องมีความตระหนัก และต้องผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Roadmap 30@30) ที่ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% ภายในปี ค.ศ. 2030

โครงการนี้จะแสดงให้เห็นถึงการเกิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้คือภาคเอกชน โดยมีรัฐบาลผลักดัน และยังแสดงถึงการเพิ่มขีดความสามารถของการสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาบุคลากรภาคการผลิตไปพร้อมๆกัน

ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อพัฒนาข้อกำหนดและระเบียบที่เกี่ยวข้องไปสู่เชิงพาณิชย์

“กระทรวง อว. ควรถูกจัดให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจพิเศษ ที่ช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้เร็วขึ้น การจะก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วต้องขายความรู้ ขายวิทยาศาสตร์ ขายเทคโนโลยีที่มีระดับสูงขึ้น หรือขายของอยู่บนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้ผลิตภาพสูงขึ้นและแข่งขันกับนานาประเทศได้ เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วต่อไป” รมว.อว. กล่าว