BCG Farming@เกาะสมุย วช.ส่งวิจัยหนุนชุมชนพึ่งตนเอง

BCG Farming@เกาะสมุย วช.ส่งวิจัยหนุนชุมชนพึ่งตนเอง

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บูรณาการความรู้หลากมิติ สร้าง BCG Farming ต้นแบบที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ บนเกาะสมุย เน้นพึ่งพาตนเองครบวงจรตั้งแต่ผลิตจนถึงบริโภค และส่งขายระดับพรีเมียมให้ธุรกิจท่องเที่ยว

ข้าวเสริมซีลีเนียมแร่ธาตุจำเป็นสำหรับร่างกาย โรงเรือนผลิตผักปลอดสาร บ่อเลี้ยงปลาน้ำจืดไร้พยาธิและผลิตภัณฑ์แปรรูปกุนเชียงปลาดุกไขมันต่ำในบรรจุภัณฑ์แบบสุญญากาศ

ตัวอย่างการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาพื้นที่ สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ที่สำคัญคือ การใช้ศักยภาพของพื้นที่เกาะสมุย ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศและมีความต้องการผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ BCG Farming

 

BCG Farming มุ่งสร้างผลผลิตและผลิตภัณฑ์เสริมความต้องการดังกล่าวจากสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้เป็นรูปแบบของการขยายผลพื้นที่ต่อไปในอนาคต

วช.ส่งงานวิจัยหนุน BCG Farming อ.เกาะสมุย

วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการการวิจัยและนวัตกรรม เห็นถึงความสำคัญของการขยายผลต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรม

BCG Farming@เกาะสมุย วช.ส่งวิจัยหนุนชุมชนพึ่งตนเอง

จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดำเนินโครงการศูนย์ BCG Farming อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบให้ชุมชนในพื้นที่และพื้นที่อื่นๆศึกษาดูงานและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้าน BCG

 

รวมทั้งมีการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายชีวภาพทางการเกษตร เพื่อการผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตร สร้างวิทยากรภายในศูนย์ที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีด้าน BCG แก่ผู้อื่นต่อได้

รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ เป็นพื้นที่นำร่อง BCG Farming

BCG Farming@เกาะสมุย วช.ส่งวิจัยหนุนชุมชนพึ่งตนเอง

ประกอบด้วยกิจกรรม การปลูกพืชในระบบโรงเรือน (ปลูกพืชแบบไร้ดินหรือไฮโดรโปรนิกส์ การพัฒนาระบบการปลูกพืชมูลค่าสูง) การเพิ่มผลผลิตในพืชสมุนไพร การผลิตเห็ดเศรษฐกิจ การผลิตข้าวเสริมซีลีเนียม

การแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นอาหาร การแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นเครื่องสำอาง และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติสำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูป

การดำเนินงานที่ผ่านมาได้สร้างโรงเรือนเปิดดอกและสถานที่ผลิตก้อนเชื้อเห็ด ประกอบด้วย การเปิดดอกเห็ดสกุลนางรม และเห็ดแครง ร่วมถึงมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีการจัดการการผลิตเห็ด ฝึกปฏิบัติขั้นตอนการผลิตเห็ดเศรษฐกิจแบบครบวงจร

การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ และนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตข้าวเสริมซีลีเนียม และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีเสริมซีลีเนียม

ประมงน้ำจืดบนเกาะสมุย

ศุภวัฒน์ ชูวารี ผู้ช่วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า การประกอบอาชีพประมงบนเกาะสมุยเกือบทั้งหมดเป็นประมงชายฝั่งขนาดเล็ก โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงน้ำเค็มบริเวณชายฝั่ง และมีส่วนน้อยที่ประกอบอาชีพประมงน้ำจืด

ผลิตผลที่ได้ส่วนใหญ่ใช้บริโภคในครอบครอบครัว ส่วนที่เหลือนำไปจำหน่าย แต่ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น

BCG Farming@เกาะสมุย วช.ส่งวิจัยหนุนชุมชนพึ่งตนเอง

เนื่องจากใน 1 ปี สามารถทำประมงได้ 4-5 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีมรสุม และปัญหาการขาดความอุดมสมบูรณ์ของปะการัง ทำให้ปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำเค็มลดลงทุกปี จึงต้องมีการนำเข้าสัตว์น้ำเข้ามาจากที่อื่น ๆ เช่น ปลาดุกบิ๊กอุย ปลาทับทิม ปลานิลจิตรลดา ปลากระพง

ด้วยเหตุนี้ คณะผู้วิจัยจึงลงพื้นที่ไปส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่มีการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดเพื่อทดแทนทรัพยากรที่มีข้อจำกัด รวมไปถึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างรายได้ด้วยแปรรูปบนฐานความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปปลาดุกอุย ได้แก่ ไส้กรอกปลา ปลายอ กุนเชียงปลา ไส้อั่วปลา ลูกชิ้นปลา รวมถึงกุนเชียงปลาดุกไร้มัน ซึ่งเป็นการใช้ข้าวไรซ์เบอรี่และคีนัวที่ผ่านกระบวนการเอ็กซ์ทรูชั่นทดแทนไขมันเพื่อลดปริมาณไขมัน รวมทั้งใช้วิธีการบรรจุแบบสุญญากาศเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา

กุนเชียงปลาดุกฯ จะะเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยใช้วัตถุดิบภายในอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ทั้งเป็นการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

BCG Farming@เกาะสมุย วช.ส่งวิจัยหนุนชุมชนพึ่งตนเอง

ถือเป็นการมุ่งยกระดับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกให้สามารถแปรรูปผลผลิตจากองค์ความรู้ในการวิจัย ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าและเชื่อมโยงตั้งแต่กระบวนการผลิต การจำหน่าย การแปรรูปอย่างครบวงจร จนเป็นผลสำเร็จในการลดปัญหาสินค้าราคาตกต่ำ

ผศ.ธนวิทย์ ลายิ้ม คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้เติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอาหารกลายเป็นส่วนหนึ่งของความนิยมในการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

หลายพื้นที่นำอาหารประจำถิ่นมาเป็นแรงจูงใจดึงดูดนักท่องเที่ยว ด้วยหน้าตา รสชาติ วัตถุดิบ ที่มีความแปลกใหม่เพื่อสร้างความโดดเด่น

ในประเด็นนี้ มทร.กรุงเทพ จึงใช้การวิจัยและพัฒนาเปลี่ยนเมนูอาหารพื้นบ้าน เป็นอาหารเมนูพรีเมียม จากวัตถุดิบการเกษตรที่มีในศูนย์การเรียนรู้

โดยในครั้งนี้ได้ผลผลิตทางการเกษตร จากพื้นที่ต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ มารังสรรค์เมนูเพื่อสร้างมูลค่าและโอกาส สำหรับให้สถานประกอบการได้ใช้เป็นต้นแบบในซื้อผลผลิตจากชุมชน ไปแปรรูปเพื่อการจำหน่าย

BCG Farming@เกาะสมุย วช.ส่งวิจัยหนุนชุมชนพึ่งตนเอง

ข้าวเสริมซีลีเนียมราคาเพิ่ม20%

สำหรับข้าวเสริมซีลีเนียมนั้นวช.สนับสนุนทุนวิจัยในการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตข้าวอุดมซีลีเนียมและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีเสริมซีลีเนียม โดยใช้วัตถุดิบมูลสัตว์ที่เลี้ยงภายในวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ สามารถจัดทำนาข้าวซีลีเนียม 7 แปลงในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ขณะนี้ได้เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว

นอกจากนี้ของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตข้าวอุดมซีลีเนียม คือ ฟางข้าว ซึ่งยังมีปริมาณซีลีเนียมสูง สามารถนำไปต่อยอดเพาะเห็ดเศรษฐกิจ เช่น เห็ดนางรมเทา และเห็ดนางรมฮังการี

ฟางข้าวที่มีซีลีเนียมสูงจะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเห็ด ทำให้จำนวนดอกต่อช่อเพิ่มขึ้น ได้ผลผลิตดอกเห็ดที่มีคุณภาพในปริมาณที่มากขึ้น และที่สำคัญมีซีลีเนียมสูงขึ้นด้วย

การผลิตข้าวและเห็ดอุดมด้วยซีลีเนียม ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตที่ไม่ผ่านกระบวนการ มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 แต่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20

BCG Farming@เกาะสมุย วช.ส่งวิจัยหนุนชุมชนพึ่งตนเอง

อาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ต้นแบบชุมชนพึ่งพาตนเอง

สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานกรรมการบริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ BCG Farming โดยมีวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ เป็นพื้นที่ต้นแบบ ได้ใช้หลักการพัฒนาคนตามวิถีพุทธ และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

คณะนักศึกษาและคณาอาจารย์ ร่วมกับชุมชนโดยรอบพื้นที่ต้นแบบ ได้ร่วมกันทำการเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยใช้หลักการสอนทั้งเชิงวิชาการและฝึกฝนทักษะวิชาชีพ

โดยได้รับเทคนิควิธีอย่างดียิ่งจากทีมนักวิจัย ทำให้คณาจารย์และเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถทำการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ร่วมกับการให้ความรู้ การขยายผลให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ.