นักศึกษาในสหรัฐ สร้าง ‘GPTZero’ แอปตรวจจับบทความที่ใช้ ChatGPT เขียน

นักศึกษาในสหรัฐ สร้าง ‘GPTZero’ แอปตรวจจับบทความที่ใช้ ChatGPT เขียน

นักศึกษาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ม.พรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา พัฒนา แอปพลิเคชันตรวจจับบทความที่เขียนด้วย ChatGPT โดยใช้ชื่อว่า “GPTZero” แจงเหตุผล ต้องการป้องกันปัญหาการคัดลอกผลงาน และป้องกันการใช้ AI เขียนบทความ

หลังการเปิดตัว ChatGPT หรือ แชทบอตตอบคำถามอัจฉริยะของบริษัท OpenAI ก็มีข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลดีและผลเสียที่ตามมา ขณะที่ความกังวลของโรงเรียนและสถานศึกษาคือ การใช้ AI เขียนบทความ หรือเขียนวิทยานิพนธ์ของโรงเรียน หากคัดลอกมาทั้งหมด นักเรียนจะไม่ได้พัฒนาความคิดของตนเองในเรื่องนั้น ๆ

เอ็ดเวิร์ด เทียน (Edward Tian) นักศึกษาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ได้พัฒนา แอปพลิเคชันตรวจจับบทความที่เขียนด้วย ChatGPT โดยใช้ชื่อว่า “GPTZero” ซึ่งได้เปิดตัวไปเมื่อ 3 ม.ค. 2566 และมีรายงานว่าในสัปดาห์หน้า (ราว 23 ม.ค.) จะเปิดให้บริการเวอร์ชันปรับปรุงล่าสุด เพื่อความเสถียรของระบบ ในชื่อ “GPTZeroX” 

เทียนเปิดเผยว่า จุดประสงค์ของการสร้างแอปพลิเคชันดังกล่าวก็เพราะต้องการป้องกันปัญหาการคัดลอกผลงาน และไม่อยากให้การเขียนบทความด้วยปัญญาประดิษฐ์กลายเป็นเรื่องปกติ

นักศึกษาในสหรัฐ สร้าง ‘GPTZero’ แอปตรวจจับบทความที่ใช้ ChatGPT เขียน

เขาได้แสดงวิธีการใช้งาน GPTZero ไว้ในทวิตเตอร์ไว้อย่างชัดเจน และได้เปิดเผยตัวอย่างบทความที่เขียนโดยมนุษย์ ขณะที่โพสต์หนึ่งบน LinkedIn เขียนด้วยแชทบอต และได้ย้ำชัดเจนว่า ที่ผ่านมามีนักเรียนใช้ AI เขียนบทความส่งอาจารย์เป็นจำนวนหนึ่ง

หลังการเปิดตัว มีผู้เข้าใช้งานกว่า 10,000 คน ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคุณครูที่ติดต่อเข้ามาเพื่อต้องการใช้งาน ทำให้ระบบหลังบ้านเกิดการขัดข้อง จึงต้องปิดระบบชั่วคราว และได้พัฒนา GPTZeroX ขึ้นมาใหม่ ที่สามารถอัปโหลดไฟล์งานให้ตรวจสอบ ทั้งนามสกุล Word และ PDF 

การทำงานของ GPTZero จะตรวจเช็กทุก ๆ คำ ทุก ๆ ตัวอักษร โดยจะไล่ไปทีละวรรค เมื่อตรวจเจอว่าเป็นบทความที่เขียนด้วยแชทบอต ระบบจะแจ้งให้ทราบในทันที แต่หาก AI เกิดความไม่มั่นใจว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์หรือแชทบอตเขียน ก็จะขึ้นกล่องข้อความสีเหลืองพร้อมข้อความว่า “มีแนวโน้มสร้างขึ้นด้วย AI”  

สำนักข่าว Techcrunch รายงานว่า นักวิจัยด้านความปลอดภัยของ OpenAI ออกมาชี้แจงในเดือนธันวาคม 2565 เรื่องการใส่ลายน้ำ (Watermark) ให้กับบทความที่เขียนด้วย ChatGPT ซึ่งบริษัทพยายามหาวิธีการใส่ “สัญญาณลับที่สังเกตไม่ได้” เพื่อระบุว่าข้อความนั้นมาจากไหน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเพิ่มเติม

“การมีแชทบอต ChatGPT ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงและไม่ได้ห้ามใช้งาน หากแต่เมื่อมีเทคโนโลยีอัตโนมัติขึ้นมาแล้ว ก็ควรใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้ถูกวิธี และใช้อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม” เทียน กล่าวสรุป และย้ำว่าเขาจะพัฒนา GPTZero ต่อไป

อ้างอิงข้อมูล: edward_the6 techcrunch npr